ขอนแก่น-โคราช ฮับผลิตรถจักร-โบกี้
Loading

ขอนแก่น-โคราช ฮับผลิตรถจักร-โบกี้

วันที่ : 13 กุมภาพันธ์ 2562
ปี 63 บังคับโปรเจ็กต์ใหม่เมดอินไทยแลนด์หลัง "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องให้เป็นรูปธรรม รับการพัฒนาระบบรางของไทยใน 8 ปี เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา
          ปี'63 บังคับโปรเจ็กต์ใหม่เมดอินไทยแลนด์หลัง "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องให้เป็นรูปธรรม รับการพัฒนาระบบรางของไทยใน 8 ปี เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา

          ล่าสุด 3 กระทรวงหลัก  "คมนาคม-คลัง-อุตสาหกรรม" กำลังร่างแผนเตรียมบังคับใน ทีโออาร์โปรเจ็กต์ใหม่ต้องใช้ของในประเทศ จากปัจจุบันต้องใช้รถไฟที่นำเข้าจาก นานาประเทศ เช่น จีน เยอรมนี ญี่ปุ่นแคนาดา "ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ" ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ผลการประชุมแนวทางการพัฒนาผลอุตสาหกรรมระบบราง เป็นการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หลังจากที่ คจร.มอบกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำผลการศึกษาแนวทางพัฒนาดังกล่าว โดยกระทรวงคมนาคมสนับสนุนข้อมูลด้านตัวเลขประมาณการความต้องการ

          ผลการศึกษาจะครอบคลุมทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งคาดการณ์อีก 20 ปีประเทศไทยจะมีความต้องการปริมาณตู้รถไฟรวม 1,000 ตู้ จากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณตู้รถไฟรวม 1,596 ตู้ แบ่งเป็นตู้รถไฟปกติ 1,183 ตู้ และตู้รถไฟฟ้าทุกระบบ 413 ตู้

          "ประเทศไทยกำลังลงทุนโครงสร้างระบบรางจำนวนมาก และอนาคตระบบราง จะเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักภายในประเทศ ดังนั้น จะไปพึ่งพาต่างประเทศทั้งหมดแบบเดิมอีกไม่ได้ ที่สำคัญจะทำให้ต้นทุนด้านการบริหารจัดการเดินรถและการซ่อมบำรุงลดลง ซึ่งข้อมูลการผลิตรถไฟฟ้าของไจก้าระบุว่า จุดคุ้มทุนตั้งโรงงาน ประกอบรถไฟอยู่ที่ 300 ตู้ต่อโรงงานต่อปี"

          คาดว่าเมื่อแผนสามารถบังคับใช้ได้จริง จะสามารถลดการนำเข้าตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากต่างประเทศคิดเป็นค่าใช้จ่าย ประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อการซื้อ ตู้รถไฟและรถไฟฟ้า 1,000 ตู้ ลดค่าใช้จ่าย ด้านการบำรุงรักษารวมถึงค่าจ้างบุคลากรได้ 4,300 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 22,300 ล้านบาท

          ปลัดคมนาคมขยายความถึงไทม์ไลน์แผนงาน ภายในปี 2563  การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของรัฐทั้งหมด กำหนดให้ซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศ หรือผู้ผลิตที่มีแผนจะเข้ามา ผลิตในประเทศเท่านั้น ในขั้นนี้ผู้ผลิตจะต้องมีแผนลงทุนด้านการผลิตภายในประเทศไทยและต้องไปขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องก่อสร้างโรงงานเสร็จ

          ภายในปี 2565  การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของรัฐทั้งหมด กำหนดให้ส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายภายในประเทศ ซึ่ง ผู้ผลิตที่มีแผนลงทุนและขอส่งเสริมการลงทุนแล้วจะต้องก่อสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประกอบตู้รถไฟสำเร็จรูปภายในประเทศ จากปัจจุบันมีเพียงผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนบางประเภทเท่านั้น เช่น สายไฟ หม้อแปลง แอร์ ลูกถ้วย เป็นต้น แล้วส่งออกไปประกอบในต่างประเทศ

          "หากมีการตั้งโรงงานจะเกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ขณะที่พื้นที่มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟ คาดว่าจะอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ขอนแก่น และนครราชสีมา"

          ภายในปี 2567  การจัดซื้อจัดจ้าง ระบบขนส่งมวลชนทางรางของรัฐทั้งหมด กำหนดให้ส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทั้งหมด กำหนดให้ใช้วัสดุชิ้นส่วนภายในประเทศ ไม่น้อยกว่า 40% ของมูลค่างานทั้งหมด

          ภายในปี 2568  ส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้า รวมถึงระบบอาณัติสัญญาณที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด กำหนดให้ชิ้นส่วนหลัก เช่น ตัวรถ โครงสร้างต่าง ๆ ตู้โดยสาร ห้องควบคุมรถ ระบบช่วงล่าง โบกี้ ระบบห้ามล้อ ระบบเชื่อมต่อขบวนรถ ระบบขับเคลื่อน ระบบไฟฟ้าและการจ่ายไฟ ต้องผลิตในประเทศทั้งหมด

          "แนวทางทั้งหมดจะนำไปใส่ไว้ใน ทีโออาร์โครงการลงทุนใหม่ทั้งหมด แต่จะไม่มีผลย้อนหลังกับโครงการลงทุนในขณะนี้ เพราะส่วนใหญ่มีความ คืบหน้าตามในทีโออาร์ไปมากแล้ว"นายชัยวัฒน์กล่าวและว่า

          หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะจัดทำสรุปข้อมูลต่าง ๆ อีกครั้ง นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งเป้าจะเสนอให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่สั่งการมาให้ดำเนินการ
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ