เรลลิงก์จบปัญหาวิ่งครบ9ขบวน ตั้งเป้าผู้โดยสาร1แสนคนต่อวัน
Loading

เรลลิงก์จบปัญหาวิ่งครบ9ขบวน ตั้งเป้าผู้โดยสาร1แสนคนต่อวัน

วันที่ : 9 กุมภาพันธ์ 2562
“ไพรินทร์” หน้าบาน เรลลิงก์วิ่งครบ 9 ขบวนแล้ว ตั้งเป้าผู้โดยสารแตะ 1 แสนคนต่อวัน พร้อมสั่งเตรียมตัวโอนย้ายบริษัทไปบริหาร “สายสีแดง” หลังมอบเรลลิงก์ให้ผู้รับงานไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน
          “ไพรินทร์” หน้าบาน เรลลิงก์วิ่งครบ 9 ขบวนแล้ว ตั้งเป้าผู้โดยสารแตะ 1 แสนคนต่อวัน พร้อมสั่งเตรียมตัวโอนย้ายบริษัทไปบริหาร “สายสีแดง” หลังมอบเรลลิงก์ให้ผู้รับงานไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้  (6 ก.พ.) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งล่าสุดได้ทำการปรับปรุงและซ่อมแซมขบวนรถโดยสารทั้งหมด 9 ขบวนให้สามารถวิ่งบริการได้ครบแล้ว

          นายไพรินทร์ กล่าวว่า  รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์สามารถให้บริการได้ครบ 9 ขบวนมาเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว แสดงว่า รฟฟท.สามารถแก้ปัญหาได้จริง อีกทั้งได้รับรายงานว่าเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 รฟฟท.ได้รับการรับรอง ISO 9001 : 2015 ขอบเขต : วิศวกรรมและซ่อมบำรุงทั้งหมดในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองแล้ว จึงเป็นการการันตีได้ว่าการให้บริการจะไม่ถดถอยลงอีก

          ขณะเดียวกันพบว่าจำนวนผู้ใช้บริการยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทำสถิติสูงสุดที่ 8.8 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับทราบแล้ว และนายอาคมได้สั่งการว่า ให้ รฟฟท.ตั้งเป้าหมายว่าต้องมีผู้โดยสารถึง 1 แสนคนต่อวัน

          นายไพรินทร์  กล่าวต่อว่า  มั่นใจรฟฟท.จะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย เพราะขณะนี้ผู้โดยสารสูงสุดก็อยู่ที่ 8.8 หมื่นคนต่อวันแล้ว  โดยล่าสุดรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์วิ่งบริการด้วยความถี่ทุก 10 นาที และในเดือนเมษายนนี้จะปรับเป็น 8 นาทีครึ่ง และจะคงที่ความถี่ดังกล่าวไว้ตลอด ซึ่งการเพิ่มความถี่จะทำให้ผู้โดยสารแต่ละขบวนลดความแออัดลง และทำให้มีผู้มาใช้บริการได้มากขึ้น อีกทั้งในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะเริ่มเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งจะมีจุดเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่พัฒนาการ และจะช่วยเพิ่มยอดผู้โดยสารให้แอร์พอร์ตเรลลิงก์ด้วย

          สำหรับภารกิจที่สำคัญอีกประการของ รฟฟท. คือ การเตรียมพร้อมโอนย้ายการทำงานไปบริหารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื่องจากต้องส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้กับผู้รับงานลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยผู้รับงานชำระเงินให้ ร.ฟ.ท. 10,671 ล้านบาท ขณะที่ ร.ฟ.ท.จะส่งมอบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้หลังจากลงนามในสัญญารถไฟความเร็วสูง 2 ปี ซึ่งล่าสุดตนได้รับรายงานว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟฟท.เป็นผู้บริหารรถไฟสายสีแดง และได้ส่งเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ

          นอกจากนี้ เชื่อว่าการบริหารรถไฟสายสีแดงของ รฟฟท.จะไม่มีปัญหาซ้ำรอยแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพราะ ร.ฟ.ท.จะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานระหว่างกันให้คล่องตัวมากขึ้น โดยให้ รฟฟท.ดำเนินงานในลักษะการร่วมทุนแบบ Net Cost คือ ให้ รฟฟท.บริการเดินรถ จัดเก็บรายได้ และแบ่งส่วนบางรายได้ให้ ร.ฟ.ท. จากเดิมที่ ร.ฟ.ท.ให้ รฟฟท.บริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์แบบ Gross Cost คือ รับจ้างเดินรถอย่างเดียว  ส่งผลให้ขาดอิสระในการบริหารงาน
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ