สนข.ศึกษาแผนยกระดับบริการรถไฟฟ้า
Loading

สนข.ศึกษาแผนยกระดับบริการรถไฟฟ้า

วันที่ : 9 กุมภาพันธ์ 2562
การดำเนินการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนั้น จำเป็นต้องมี การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนควบคู่ไปพร้อมกัน กระทรวงคมนาคม โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงดำเนินการศึกษาการวางแผนเชิงระบบการจัดการเดินรถเพื่อ ยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
          นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อานวยการสานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงการจัดงานประชุมสัมมนาปิด "โครงการศึกษาการวางแผนเชิงระบบการจัดการเดินรถเพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน" ว่า ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ถือเป็นการขนส่งสาธารณะเส้นทางหลักของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ระบบรางของประเทศผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน มีแผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้ามากกว่า 400 กิโลเมตรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

          แต่การดำเนินการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนั้น จำเป็นต้องมี การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนควบคู่ไปพร้อมกัน กระทรวงคมนาคม โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงดำเนินการศึกษาการวางแผนเชิงระบบการจัดการเดินรถเพื่อ ยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยมีเรื่องหลักๆ 5 เรื่อง ดังนี้

          1.การกำหนดชื่อและรหัสสถานีรถ ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นระบบสากลจากประเด็นความสับสน ในเรื่องการกำหนดชื่อและรหัสสถานีรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงได้นำเสนอแนวทางการกำหนดรหัสและชื่อสถานีรถไฟฟ้าสำหรับสถานีในอนาคตให้เข้าใจง่ายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีความกระชับ การกำหนดรหัสสถานีรถไฟฟ้าในเส้นทางหลักให้เป็นรูปแบบเดียวกัน กำหนดให้เป็นรหัสอักษรอังกฤษ 2 ตัว และตัวเลข 2 ตัว โดยตัวอักษรอาจเป็นชื่อย่อของสีในแต่ละเส้นทางการกำหนดชื่อสถานีเชื่อมต่อในอนาคต ควรใช้ชื่อสถานีเดียวกัน และส่งเสริมให้มีการเชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงสร้างเดียวกัน

          2.การกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานให้กับหน่วยงาน เพื่อใช้ในการกำกับดูแล การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งสะท้อนผลการแก้ปัญหาปัจจุบันประกอบด้วย ปริมาณการเดินทาง (Transport volume) ความตรงต่อเวลา (Punctuality) ความน่าเชื่อถือ (Reliability) การมีให้บริการ (Availability) การใช้ทรัพยากร (Resource Utilization) และความพึงพอใจของผู้รับบริการ (Customer Satisfaction) เพื่อเป็นมาตรฐานในการกำกับดูแลผู้ให้บริการ รวมทั้งมีการวัดความพึงพอใจเกี่ยวกับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง 9 ด้าน ได้แก่ ด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านการจำหน่ายบัตร ด้านเวลาในการให้บริการ ด้านความสะดวกในสถานี ด้านความสะดวกภายในขบวนรถไฟฟ้า ด้านการจัดการข้อร้องเรียน ด้านการรักษาความปลอดภัย ด้านการให้บริการของพนักงาน ความพึงพอใจโดยรวม

          3.การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการวางแผนเชิงระบบในการจัดการเดินรถ การประยุกต์ใช้แบบจำลองการเดินรถในการจำลองการเดินรถไฟฟ้าสำหรับสาย Airport Rail Link ทดลองปรับเปลี่ยนความถี่และรูปแบบการเดินรถ กำหนดจำนวนขบวนรถไฟให้เหมาะสมกับปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงประมาณค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าการจัดทำแบบจำลองการเดินเท้าภายในสถานี โดยสำรวจ วิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้บริการและศึกษาพฤติกรรมการเดินเท้าของผู้โดยสารภายในสถานี เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายในสถานีให้มีประสิทธิภาพ

          4.การจัดทำแอพพลิเคชั่นข้อมูลระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนทางราง ที่รวบรวมระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทุกเส้นทาง และเป็นแอพพลิเคชั่น ของหน่วยงานภาครัฐที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถค้นหาเส้นทางใน Offline Mode รวมถึงแสดงสถานะโครงการรถ ไฟฟ้าที่กำลังดำเนินงานก่อสร้างได้ภายในแอพพลิเคชั่นเดียว

          5.การกำกับ ดูแล การปฏิบัติการเดินรถเชิง Digital ของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อการให้บริการที่มีคุณภาพสูงสุด เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยส่วนสำคัญหลัก คือ Rail Data Center ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการให้บริการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผน การแก้ปัญหา การกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการเดินรถให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ด้วยการกำหนดแนวทางการใช้ Digital Platform ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ

          สำหรับการประชุมสัมมนาปิด "โครง การศึกษาการวางแผนเชิงระบบการจัดการเดินรถเพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน" ที่ สนข. จัดขึ้นในวันนี้เป็นการนำเสนอผลของการศึกษาการวางแผนเชิงระบบการจัดการเดินรถเพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นประโยชน์ในการยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอย่างยั่งยืน และนำมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อไป
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ