ไฮสปีดเลื่อนเคาะปัดย้ายสถานีใหม่
Loading

ไฮสปีดเลื่อนเคาะปัดย้ายสถานีใหม่

วันที่ : 2 กุมภาพันธ์ 2562
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การเจรจาระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตร (ซีพี) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ยังไม่ได้ข้อสรุป
          รฟท.เลื่อนเจรจาไฮสปีด 3 สนามบิน นัดถกอีกรอบ 7 ก.พ. ปัดย้ายสถานีตามข้อเสนอซีพี

          นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การเจรจาระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตร (ซีพี) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ยังไม่ได้ข้อสรุป

          ทั้งนี้ ได้มีการเจรจาในกรอบที่ 1 จากทั้งหมด 3 กรอบ โดยบรรยากาศทั่วไปนั้นผ่านไปได้ด้วยดี และมีการพิจารณาในประเด็นที่ยากไปแล้ว แต่ยังคงมีเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นในวันที่ 7 ก.พ.จะมีการเจรจาร่วมกันอีกครั้งในกรอบเจรจาที่เหลือ ถ้ายังมีประเด็นที่ต้องเจรจาก็จะไปหารือในวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ด้วย

          สำหรับการเจรจาร่างสัญญากับเอกชนมีการจัดกลุ่มเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มเจรจาร่างสัญญายาก 2.กลุ่มเจรจาร่างที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และ 3.กลุ่มเจรจาร่างสัญญาง่าย

          "อย่างไรก็ตามหากยังไม่ได้ข้อยุติอีก อาจมีการพิจารณาสอบถามไปยังเอกชนว่า การเจรจาเดินมาถึงขนาดนี้แล้ว หากต้องหยุดลงจะยังโอเคหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องประเมินผลที่จะตามมาด้วย สำหรับกรอบเจรจาข้อท้ายๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเกินไป หากตกลงในข้อยากร่วมกันได้ก็คงเดินไปได้ แต่ในวันนี้ยังไม่มีข้อสรุป ขณะที่เป้าหมายของโครงการยังคงไว้ตามกรอบเดิมคือลงนามสัญญาภายในรัฐบาลชุดนี้" นายวรวุฒิ กล่าว

          นายวรวุฒิ กล่าวถึง กระแสข่าว ที่เอกชนเสนอให้มีการปรับย้ายที่ตั้ง สถานีว่า การย้ายที่ตั้งสถานีของโครงการเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เนื่องจากความใหญ่ของตัวสถานี จึงมีการสำรวจความพร้อมของที่ตั้งทั้งกายภาพและพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดินจะเป็นปัญหาเรื่องการรื้อย้ายอย่างมาก หากต้องสำรวจที่ตั้งสถานีแห่งใหม่

          ปัจจุบัน รฟท.กำลังก้าวไปสู่ยุคใหม่ของการพัฒนาระบบรางและยกระดับคุณภาพบริการของรถไฟ ตอนนี้กำลังจะมีรถไฟทางคู่ระยะทางมากกว่า 400 กิโลเมตร (กม.) และจะเพิ่มเป็นมากกว่า 1,000 กม.ใน อีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยประเทศไทยกำลังจะมีรถไฟฟ้าชานเมืองแบบมิดเดิลเกตวิ่งบนราง ซึ่งจะเป็นหนึ่งในอนาคตของ รฟท. นอกจากนี้ยังมี การวางแผนแม่บทพัฒนาระบบรางทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟทางคู่และ รถไฟไฮสปีด ตลอดจนปรับองค์กรและ รูปแบบการทำงานให้ทันสมัยผ่านการตั้งบริษัทลูก
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ