รฟท.ส่อเลื่อนเซ็นสร้างไฮสปีดเทรน
Loading

รฟท.ส่อเลื่อนเซ็นสร้างไฮสปีดเทรน

วันที่ : 21 มกราคม 2562
เมื่อวันที่ 19 มกราคม นายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่าการการไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน สนามบินดอนเมืองสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา หลังจากที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ได้เข้ามาเจรจาเงื่อนไขตามข้อกำหนดการลงทุนโครงการ (ทีโออาร์) ว่า เป้าหมายการดำเนินงาน (ไทม์ไลน์) ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯวางไว้เดิม
          รฟท.เล็งเจรจาสัญญารอบแรก ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน 25 ม.ค.นี้

          รฟท.เปรยส่อเลื่อนเซ็นไฮสปีด

          เมื่อวันที่ 19 มกราคม นายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่าการการไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน สนามบินดอนเมืองสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา หลังจากที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ได้เข้ามาเจรจาเงื่อนไขตามข้อกำหนดการลงทุนโครงการ (ทีโออาร์) ว่า เป้าหมายการดำเนินงาน (ไทม์ไลน์) ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯวางไว้เดิมคือ คาดว่าจะลงนามสัญญาโครงการได้ในวันที่ 31 มกราคม 2562 นี้ และกำหนดว่าจะมีการเจรจาสัญญารอบแรกภายในสัปดาห์ที่จะถึงนี้หรือภายในวันที่ 25 มกราคม 2562 หลังจากที่ได้เปิดซองประมูลครบทั้ง 4 ซองเรียบร้อยแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา

          "เบื้องต้นคณะกรรมการคัดเลือกคาดว่าจะเริ่มเจรจาสัญญาในวันที่ 25 มกราคม ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯจะส่งเอกสารลายลักษณ์อักษรให้กับทางกลุ่มซีพี ในวันที่ 18 มกราคม หลังจากที่ทางกลุ่มซีพีได้รับเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วจะต้องมีการหารือกับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศก่อนจะมีการตอบรับกลับมายังคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นวันเวลาที่ชัดเจนว่าพร้อมจะเริ่มเจรจาสัญญาเมื่อใด" นายวรวุฒิกล่าว

          รอวางกรอบ ไทม์ไลน์ 

          นายวรวุฒิกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ไทม์ไลน์การลงนามสัญญาโครงการจะเป็นไปตามกำหนดหรือไม่นั้น จะต้องประเมินหลังจากการเจรจารอบแรกก่อน ซึ่งหากการลงนามสัญญาจะต้องเลื่อนออกไปก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการคัดเลือกฯจะมีการกำหนดกรอบใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร และคาดว่าจะไม่กระทบต่อการก่อสร้างของโครงการที่ยังคงกำหนดเดิมในระยะเวลา 5 ปี

          "ไทม์ไลน์การลงนามสัญญาโครงการคณะกรรมการคัดเลือกฯกำหนดไว้วันที่ 31 มกราคม 2562 หากการเจรจาสัญญาไม่แล้วเสร็จทันตามที่กำหนดไว้เดิมก็จะต้องมีการวางกรอบเป้าหมายและประกาศไทม์ไลน์ใหม่ โดยอาจต้องแจ้งให้ทางผู้ใหญ่และรัฐบาลรับทราบความคืบหน้าโครงการว่า โครงการอาจจะลงนามสัญญาช้า เพราะมีเงื่อนไขที่จะต้องเจรจา แต่เรื่องกรอบเวลาลงนามสัญญาจะเป็นอย่างไรไม่ต้องขออนุมัติจากทางคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องการกำหนดของคณะกรรมการคัดเลือกฯเอง ส่วนการเจรจาสัญญาจะมีความยืดเยื้อหรือไม่ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาหรือทางกลุ่มซีพี แต่ประเมินว่าน่าจะเร็วกว่าการเจรจารถไฟไทยจีน ทั้งนี้ หลังจากเจรจารอบแรกก่อน จึงจะมีการประเมินได้ว่าจะต้องขยับกรอบเวลาหรือไม่" นายวรวุฒิกล่าว

          ศก.นิ่ง/พืชราคาถูกดันหนี้สูง

          นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 2561 ที่ออกมายังมีแรงกดดันจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) การตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่ม ค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่ลดลงหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (นิม) ที่มีแนวโน้มปรับลดลง อย่างไรก็ตามสถานการณ์หนี้เอ็นพีแอล ของธนาคารพาณิชย์คาดว่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว และสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อจะไม่เห็นระดับสูง 3% ปีนี้น่าจะอยู่ที่ 2.8-2.9%

          นายนริศกล่าวว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมาคือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งแบบดั้งเดิมที่ยังปรับตัวไม่ได้ เพราะการค้าขายออนไลน์ที่เข้ามา รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตร เพราะราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ เช่น ยาง ปาล์ม แม้ว่าราคาข้าวและมันสำปะหลังจะปรับดีขึ้นบ้าง เป็นต้น โดยปัจจุบันมูลค่าเอ็นพีแอลทั้งระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท สัดส่วนเป็นเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีกว่า 60% หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งปี 2562 คาดว่าคุณภาพสินเชื่อของเอสเอ็มอีจะยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นมากนัก

          นายนริศกล่าวว่า สถานการณ์หนี้เสียทำให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 ธนาคารพาณิชย์มีภาระการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นกว่า 1.5% และคาดว่าปี 2562 จะยังต้องตั้งสำรองใกล้เคียงกันที่ 1.4% ตามเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการตัดขายหนี้เสียออกของธนาคารพาณิชย์ทำได้ยากมากขึ้น เพราะมีบริษัทที่รับซื้อหนี้เอ็นพีแอลไปบริหารมีอยู่เพียงไม่กี่รายและธนาคารพาณิชย์มีการขายหนี้ออกมาพร้อมกัน แต่ธนาคารพาณิชย์มีการตั้งสำรองเผื่อตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ไปส่วนหนึ่งแล้วจึงไม่ต้องตั้งสำรองมากเท่าปี 2561

          กำไรแบงก์วูบโตแค่4-5%

          นายนริศกล่าวว่า ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปี 2561 เฉลี่ยอยูที่ 3% คาดว่าปี 2562 อาจชะลอตัวลงมา เนื่องจากสินเชื่ออาจจะขยายตัวไม่มากนัก และเริ่มมีต้นทุนการแข่งขันระดมเงินฝากเข้ามา ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมมีแรงกดดันจากการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งการส่งออกที่ชะลอตัวลงทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ของธนาคารมีแนวโน้มที่จะลดลงด้วย คาดอัตราการเติบโตของกำไรธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ 4-5% จากช่วงก่อนหน้าที่เคยสูงในระดับ 10%

          "ปัจจัยท้าทายของธุรกิจธนาคารพาณิชย์นอกจากคุณภาพสินเชื่อ การตั้งสำรองหนี้เสีย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ยังมีเรื่องการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับบริการลูกค้าและรองรับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปที่จะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ต้องติดตามว่าการลงทุนที่เกิดขึ้นจะช่วยขยายฐานลูกค้าดิจิทัลได้มากน้อยเพียงใด เพราะขณะนี้ขนาดของธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่ใหญ่มากนัก ธนาคารขนาดใหญ่มีฐานลูกค้าประมาณ 10-15 ล้านราย ธนาคารขนาดเล็กมีลูกค้าราว 5 ล้านราย" นายนริศกล่าว

          รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าปี 2562 จะเป็นปีที่กดดันสำหรับ ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ด้วยการเติบโตของสินเชื่อและรายได้จากการ ดำเนินงานต่ำกว่าตลาดคาด ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นจะฉุดกำไรให้ต่ำลง คาดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจเผชิญแรงเทขาย เนื่องจากนักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในขณะที่การเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าจะทรงตัว ยอดขายรถยนต์ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องช่วยหนุนสินเชื่อรายย่อย ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อาจจะขยายตัวไม่มากนัก มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา

          กิมเอ็งชี้ปี 62กดดันแบงก์

          รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุอีกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมาจากระดับ 1.50% ขึ้น 0.25% เป็น 1.75% แต่คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (นิม) ยังมีโอกาสขยายตัวอยู่บ้าง และคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะเติบโตในระดับต่ำสุด โดยต้นทุนต่างๆ ไม่ได้ลดลง ทั้งนี้ ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์อาจยังคงมีอยู่และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่อาจจะเพิ่มขึ้นต่อไปจากภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่และตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา ประเมินว่าปี 2562 ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังมากขึ้นและอาจปรับเพิ่มระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งจะกระทบกำไรได้

          คาด หมอเสริฐ เคลียร์หุ้น21ม.ค.

          นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งปรับนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ฐานปั่นหุ้น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BA) ว่า คาดว่าบอร์ดผู้บริหารจะมีการเรียกประชุมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวันจันทร์ที่ 21 มกราคมนี้ และคงมีการแถลงผลเพื่อความชัดเจนต่อไป เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของบริษัท เพราะการที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ได้ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ, นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ และนางนฤมล ใจหนักแน่น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน เข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2560 และจะต้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่กำหนดในหนังสือที่ ก.ล.ต.จะมีการแจ้งในขั้นตอนต่อจากนี้ ทำให้คาดว่าอาจมีการปรับโครงสร้างผู้บริหารของบริษัท

          โบรกห่วงหุ้นกลุ่มรพ.มากกว่า

          นายวิจิตรกล่าวว่า เบื้องต้นมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคงไม่สร้างผลกระทบต่อหุ้นตัวอื่นๆ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เฉพาะมากกว่า ทำให้เชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากจะมีผลกระทบจริงๆ อาจจะมีในแง่ของเรื่องจิตวิทยาในการลงทุนของนักลงทุนบ้าง เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เวลามีข่าวในด้านลบออกมาแล้วจะทำให้นักลงทุนรู้สึกไม่มั่นใจกับการลงทุนเท่าเดิมนัก แต่ต้องยอมรับว่าหุ้นมีโอกาสเซได้ เนื่องจากภาพรวมตลาดตอนที่หุ้นกลุ่มธนาคาร อาทิ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศตอนปิดตลาดออกมา พบว่า ดัชนีหุ้นไม่ได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งโอกาสของการปรับลดประมาณการของหุ้นในกลุ่มธนาคาร อาจทำให้ตลาดเหลือ 2%

          นายวิจิตรกล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตามองเป็นเรื่องของบทสรุปกรณีที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะมีการนำยาและเวชภัณฑ์เข้าเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากหากมีการกำหนดระดับราคายาและเวชภัณฑ์จริงจะส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของโรงพยาบาล ซึ่งหากสรุปออกมาแล้วพบว่าจะมีการคุมราคายาและเวชภัณฑ์จริง จะทำให้หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลปรับตัวลดลงได้ หลังจาก 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงไปบ้างแล้ว แต่หากสรุปออกมาแล้วพบว่ายังไม่มีการคุมราคา หุ้นในกลุ่มนี้ก็มีโอกาสดีดตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งก็ต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป อย่างไรก็ตามคาดว่าทั้ง 2 ปัจจัยจะมีผลกระทบต่อหุ้น BA อย่างแน่นอน
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ