อุตตม เร่งเครื่อง อีอีซี เชื่อมธุรกิจเพิ่มรายได้ชุมชน
Loading

อุตตม เร่งเครื่อง อีอีซี เชื่อมธุรกิจเพิ่มรายได้ชุมชน

วันที่ : 19 ธันวาคม 2561
ผู้จัดการรายวัน360 - "อุตตม"ลุยพื้นที่จังหวัดระยองรุดฟังปัญหาและขับเคลื่อนโครงการใน อีอีซี ย้ำประชาชนในพื้นที่ต้องร่วมมือเพื่อสร้างฐานความเจริญใหม่ที่จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น หนุนบ้านฉางก้าวสู่สมาร์ทซิตี้ พร้อมมอบ "กนอ." ทำความเข้าใจชาวบ้านประโยชน์ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ย้ำไร้ปัญหาแม้ถมทะเลยังไม่ผ่าน EHIA มั่นใจนักลงทุนยังตอบรับ
          "อุตตม"เร่งเครื่อง"อีอีซี" เชื่อมธุรกิจเพิ่มรายได้ชุมชน

          ผู้จัดการรายวัน360 - "อุตตม"ลุยพื้นที่จังหวัดระยองรุดฟังปัญหาและขับเคลื่อนโครงการใน อีอีซี ย้ำประชาชนในพื้นที่ต้องร่วมมือเพื่อสร้างฐานความเจริญใหม่ที่จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น หนุนบ้านฉางก้าวสู่สมาร์ทซิตี้ พร้อมมอบ "กนอ." ทำความเข้าใจชาวบ้านประโยชน์ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ย้ำไร้ปัญหาแม้ถมทะเลยังไม่ผ่าน EHIA มั่นใจนักลงทุนยังตอบรับ

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต.ตะพง และเทศบาลบ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ว่า  พื้นที่จังหวัดระยองถือเป็น 1 ใน 3 จังหวัดนำร่องในการพัฒนาอีอีซีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีวางเป้าหมายที่จะสร้างฐานความเจริญใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และวิสาหกิจชุมชน ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่อีอีซีจึงต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จึงต้องเร่งทำความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ถึงประโยชน์ที่จะได้รับ

          "การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ จ.ระยอง และรับฟังปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งขอย้ำว่าทุกโครงการไม่มีความหมายถ้าชุมชนไม่ได้อะไร  และการพัฒนานั้น รัฐบาลนำงบมา ท่านเป็นเจ้าของจึงต้อง ร่วมมือกันและใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้นโดยยอมรับว่าบางเรื่องอาจต้องใช้เวลาเช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่จะนำสินค้าเกษตรมาจำหน่ายได้ตลอดปีอย่างไร เหล่านี้ต้องยึดโยงกันเพื่อทำให้รายได้ของคนในพื้นที่เพิ่มขึ้น" นายอุตตมกล่าว 
          ทั้งนี้ ทางเทศบาล ต.บ้านฉางได้เสนอแนวทางที่จะพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ บ้านฉาง สมาร์ทซิตี้จำนวน 1,850 ไร่ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของอีอีซี โดยจะจัดรูปที่ดินโดยไม่ต้องมีการเวนคืนแต่อย่างใด และจะพัฒนาร่วมกันที่จะเชื่อมโยงกับท่าเรือจุกเสม็ด และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ฯลฯ ขณะเดียวกันต้องการที่จะผลักดันให้เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาแนวทางดำเนินงานต่อไป เพราะการจะประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นต้น

          ส่วนความคืบหน้าการถมทะเลกว่า 1,000 ไร่เพื่อรองรับการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่ ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสุขภาพ (EHIA) นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องใช้เวลาพิจารณาถึง 8 เดือน จนเกือบถึงสิ้นปีงบประมาณ 2562 อาจทำให้แผนการถมทะเลต้องปรับการใช้งบประมาณจากปี 2562-2563 เลื่อนไปเป็นปี 2563-2564 มั่นใจว่าคงจะเกิดปัญหาต่อการพัฒนาท่าเรือฯเพราะทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติยังคงสนใจที่จะเข้ามาลงทุน

          "ต้องการให้การนิคมอุตสาหกรรมเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมง สร้างขึ้นมาแล้วประเทศได้ประโยชน์อย่างไร ชาวบ้านในพื้นที่รับประโยชน์อย่างไร ยืนยันว่าเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ ยังสนใจโครงการลงทุน จึงไม่น่าเกิดปัญหา เพราะนักลงทุนไทย จีน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ พร้อมเสนอการลงทุน โดยเฉพาะ ปตท. ที่ต้องการสร้างห้องเก็บความเย็นขนาดใหญ่ เป็นผลต่อเนื่องจากการกลั่นปิโตรเคมี เพื่อใช้เก็บรักษาผลไม้ในภาคตะวันออก รองรับการจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี และขณะนี้แผนการศึกษาคืบหน้าไปมาก เป็นที่น่าพอใจ" นายอุตตม กล่าว
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ