โรงงานล้น มหาชัย แตก 6พันแห่งป่วนติดล็อกผังเมือง
Loading

โรงงานล้น มหาชัย แตก 6พันแห่งป่วนติดล็อกผังเมือง

วันที่ : 10 ธันวาคม 2561
มหาชัยเมืองแตกโรงงานทะลัก เผย 6,000 โรงงานป่วนติดล็อก ผังเมือง "สีชมพู-สีเขียว" ขยายโรงงานไม่ได้ พื้นที่นิคมเต็มอัตรา หอการค้าจังหวัด-สภาอุตฯประชุมวุ่น ดิ้นขอแก้ผังเมืองด่วน ชี้จำเป็นต้องมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ นักธุรกิจท้องถิ่นเสนอที่ดิน 700 ไร่ ตั้งนิคม สะดุดผังเมืองพื้นที่สีเขียว วงในแฉ มีเอกชนลักลอบขยายโรงงาน กนอ.ยัน "สมุทรสาคร"ไม่มีพื้นที่ตั้งโรงงานเพิ่มอีกแล้ว
         มหาชัยเมืองแตกโรงงานทะลัก เผย 6,000 โรงงานป่วนติดล็อก ผังเมือง "สีชมพู-สีเขียว" ขยายโรงงานไม่ได้ พื้นที่นิคมเต็มอัตรา หอการค้าจังหวัด-สภาอุตฯประชุมวุ่น ดิ้นขอแก้ผังเมืองด่วน ชี้จำเป็นต้องมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ นักธุรกิจท้องถิ่นเสนอที่ดิน 700 ไร่ ตั้งนิคม สะดุดผังเมืองพื้นที่สีเขียว วงในแฉ มีเอกชนลักลอบขยายโรงงาน กนอ.ยัน "สมุทรสาคร"ไม่มีพื้นที่ตั้งโรงงานเพิ่มอีกแล้ว

          หอการค้าจี้รื้อผังเมือง

          นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรอแยลฟรอเซนฟู๊ด จำกัด ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน เนื่องจากผังเมืองรวมจังหวัดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีชมพู ก่อสร้างได้เฉพาะที่อยู่อาศัย ไม่สามารถขยายโรงงานอุตสาหกรรมได้ ขณะที่นิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ไม่เหลือพื้นที่สร้างโรงงานแล้ว ดังนั้น ถ้าใครจะขยายโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร ตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้ว ที่ผ่านมาหอการค้าได้เข้าไปหารือกับจังหวัดสมุทรสาคร และโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร แต่ขณะนี้ยังไม่มีความก้าวหน้า

          "ในเมื่อสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหลักใหญ่ของประเทศ เห็นได้จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าประมาณ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี ฉะนั้น ควรเปิดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมไปเลย"

          เอกชนชงที่ 700 ไร่ตั้งนิคมใหม่

          ดร.อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท มโนห์ราอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โรงงานในพื้นที่มีปัญหาไม่สามารถขยายได้ เพราะติดเรื่องผังเมือง ซึ่งที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดได้มีการหารือเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีเอกชนรายหนึ่งเสนอขอจัดตั้งนิคมแห่งใหม่ บนเนื้อที่ 700 ไร่ ต.ท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ไปที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แต่ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ยังขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะเงื่อนไขการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมีหลายองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา ที่ดินผืนดังกล่าวตรงกับคุณสมบัติของ กนอ.หรือไม่ และมีขั้นตอนในเรื่องระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่ต้องลงทุนดำเนินการ

          ลักลอบขยาย รง.

          แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ผ่านมาทั้งหอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีความพยายามผลักดันเรื่องการแก้ผังเมืองเพื่อให้สามารถตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด (กรอ.จังหวัด) แต่ระดับนโยบายภาครัฐไม่ตอบรับที่จะผลักดันในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมามีการลักลอบขยายโรงงาน อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า สมุทรสาครมีพื้นที่จำกัด แต่มีความจำเป็นต้องมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่เพิ่ม ซึ่งดีกว่าปล่อยให้ต่างคนต่างขยายโรงงาน ซึ่งไม่สามารถควบคุมปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย ขยะได้ ดังนั้น หากจะต้องทบทวนผังเมืองในบางพื้นที่ที่ผังเมืองติดพื้นที่สีชมพู และสีเขียว เพื่อให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ได้ ถือว่ามีความจำเป็นต้องทำ แต่ยอมรับว่าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมภายในจังหวัดยังมีความคิดเห็นขัดแย้งกันในเรื่องนี้ เพราะหลายคนมีที่ดินดั้งเดิมไม่ต้องไปลงทุนซื้อที่ดินใหม่

          ท่าจีนเผย 40 รง.ติดล็อกผังเมือง

          นายรังสรรค์ เจียระนัย นายกเทศมนตรีตำบลท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ผ่านมามีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประมาณ 30-40 แห่ง ที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลท่าจีน ติดต่อเข้ามาที่จะขอขยายโรงงานเพิ่ม แต่ไม่สามารถอนุญาตให้ได้ เนื่องจากต้องยึดตามหลักของกฎหมายฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะประกาศผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อประมาณช่วงต้นปี 2560

          ส่วนกระบวนการจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางเทศบาล ต.ท่าจีนได้รับฟังปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรมมาพอสมควร และได้เคยเสนอไปทางจังหวัดให้พิจารณาว่า ปัจจุบันการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดสมุทรสาครไม่สอดคล้องกับผังเมืองในปัจจุบัน จึงทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ โดยโรงงานบางแห่งมีที่ดินใกล้กับโรงงานเดิม แต่ผังเมืองกำหนดสีชมพู สีเขียวไว้ ทำให้ไม่สามารถขยายโรงงานได้ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์อยู่ เป็นผลกระทบทำให้ไม่สามารถขยายโรงงานได้ ขณะที่การไปลงทุนในที่ดินแห่งใหม่ต้องลงทุนสูง

          6 พันโรงงานทะลัก

          รายงานข่าวจากสำนักงานคลังจังหวัดสมุทรสาครประเมินว่า ปี 2561 จะมีโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาครประมาณ 6,116 โรงงาน และคาดว่าในปี 2562 จะมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 6,361 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจส่งออก มีทุนจดทะเบียนของอุตสาหกรรมรวม 271,252 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2562 จะเพิ่มเป็น 281,198 ล้านบาท

          ขณะที่สินเชื่อเพื่อการลงทุนของสถาบันการเงินในสมุทรสาคร ในปี 2561 คาดว่ามีวงเงินสินเชื่อ 95,222 ล้านบาท ตามการขยายตัวของการลงทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ และคาดว่าในปี 2562 สินเชื่อเพื่อการลงทุนในจังหวัดสมุทรสาคร จะขยายตัวร้อยละ 6.0 วงเงินสินเชื่อ 100,935 ล้านบาท

          กนอ.ชี้ตั้งนิคมใหม่ยึดสีผังเมือง

          นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จ.สมุทรสาคร พื้นที่สีม่วงสำหรับภาคอุตสาหกรรมนับว่าเต็มพื้นที่แล้ว แม้จะมีนักลงทุนสนใจที่จะลงทุน แต่ติดสีผังเมืองที่เป็นสีชมพู ทำให้นักลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ ซึ่งอยากให้นักลงทุนเข้ามาหารือกับทาง กนอ.ก่อน และจะเป็นตัวกลางเจรจากับทางกรมโยธาธิการและผังเมืองให้ โดยจะนำข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ความจำเป็นที่ภาคอุตสาหกรรมต้องขยายตัวเพิ่มไปหารือ

          "เราต้องเชื่อผังเมือง เพราะเขามีหน้าที่แบ่งโซนให้เหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรม ชุมชน ชัดเจน ส่วนนักลงทุนที่ยังคงต้องการลงทุนใน สมุทรสาคร หากพื้นที่สีม่วงไม่มี หรือขยายเพิ่มให้ไม่ได้แล้วก็ต้องยอมรับ และหาพื้นที่ใหม่ที่เป็นไปได้เพื่อลงทุนแทน"

          โยธาฯพร้อมพิจารณา

          นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า หากทางจังหวัดมองว่ามีความเหมาะสมที่จะต้องปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ เพื่อรองรับกับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม ก็สามารถเสนอเรื่องมายังกรม เพื่อขอปรับปรุงสีผังเมืองรวมได้ เนื่องจากการจะขอแก้ไขปรับปรุงโดยหลักแล้วจะต้องได้รับความเห็นชอบจากจังหวัดก่อน ทางคณะกรรมการผังเมืองชุดใหญ่ถึงจะมีการพิจารณาให้ แต่จะต้องเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยการพิจารณาจะดำเนินการตามกระบวนขั้นตอนของกฎหมาย ไม่สามารถประเมินระยะเวลาได้ แต่คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี
 
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ