6เดือนแผนจบพร้อมลุย เขตศก.ใต้ คืบ ปั้นเมืองระนองเกตเวย์ สุราษฎร์-นครศรีฯ ฮับ3จว.ชายแดนบูมฮาลาล
Loading

6เดือนแผนจบพร้อมลุย เขตศก.ใต้ คืบ ปั้นเมืองระนองเกตเวย์ สุราษฎร์-นครศรีฯ ฮับ3จว.ชายแดนบูมฮาลาล

วันที่ : 28 สิงหาคม 2561
สภาพัฒน์ขอเวลา 6 เดือน เดินหน้าศึกษาแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคใต้ ผลักดัน'ระนอง'ประตูสู่ภาคใต้ สุราษฎร์-นครศรีฯศูนย์กลางแปรรูปสินค้าเกษตร-ประมง

คาด6เดือนรู้ผลศึกษาเอสอีซี

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า แผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) ผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว หลังจากนี้สภาพัฒน์จะเริ่มศึกษารายละเอียดโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 6 เดือนจะแล้วเสร็จ และมีการนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป โดยจะมีการผลักดันจังหวัดระนองให้เป็นเกตเวย์ หรือประตูสู่ภาคใต้ ส่วนสุราษฎ์ธานีและนครศรีธรรมราชพัฒนาเป็นศูนย์กลางการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า ทั้งสินค้าเกษตร และการแปรรูปสินค้าทางทะเล รวมทั้งจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่งทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล จะพัฒนาต่อเนื่องและส่งเสริมการค้าชายแดนผ่านด่านชายแดนพิเศษใน อ.สะเดา ด้านโครงสร้างพื้นฐานกระทรวงคมมาคมเป็นผู้พัฒนารองรับ เช่น รถไฟชุมพร-ระนอง การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ถนนเลียบชายหาด เป็นต้น คาดว่าโครงการจะดำเนินการใน 3-5 ปี

อุตฯดันฮาลาลอุตฯเป้าหมาย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงมีความพร้อมและเตรียมแผนงานที่จะเสนอให้สภาพัฒน์และมีการหารือรวมกันต่อไป เพื่อร่วมดำเนินการโครงการเอสอีซีในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้คือการเกษตรและอาหารทะเลที่จะยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการแปรรูป และด้านการพัฒนาบุคลากร และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยกระทรวงมีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) อยู่ที่สุราษฎร์ธานีและสงขลา สำหรับ 3 จังหวัดมีอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเชื่อมโยงโดยใช้สถาบันอาหาร

ดันเชื่อมฝั่งตะวันออกไปตะวันตก

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการอีอีซีมีความพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนของเอกชน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีการให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุน และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับการเชื่อมต่อในพื้นที่และเชื่อมต่อกับภูมิภาค ทั้งการบินสามารถบินตรงมาลงที่สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูง รวมทั้งท่าเรือน้ำลึก ทั้ง 2 ท่าเรือสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งจะสามารถขนส่งสินค้าจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกได้สะดวกเป็นการเชื่อมต่อการค้าจากฝั่งอ่าวไทยและอันดามันโดยที่ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา

คณะส่งเสริมฯไทย-จีนครั้งแรก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (เจซี ไทย-จีน) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน เป็นประธาน ได้ตกลงจะเพิ่มเป้าหมายการค้าของสองประเทศ เป็น 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 จากเดิมเคยตั้งไว้ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 และได้ลงนามเอ็มโอยูระหว่างนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางเกา เยี่ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน จัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรค (Working group on Unimpeded Trade) ดังนั้น ในวันที่ 25 สิงหาคม ไทยจึงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานครั้งแรกในระดับอธิบดีกรมเจรจาทั้งสองประเทศ เพื่อหารือและกำหนดแนวทางขยายการค้าให้บรรลุตามเป้าหมาย 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

หารือ8ข้อขยายการค้า-ลดอุปสรรค

นางอรมนกล่าวว่า ในการหารือได้ข้อสรุป ดังนี้ 1.การขยายความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร เช่น ผักผลไม้ อาหารฮาลาล สินค้าประมง เพื่ออำนวยความสะดวกสินค้าเกษตรไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ในจีน เช่น เฉิงตู ฉงชิง ซีอาน ซินเจียง ชิงต่าว รวมถึงมณฑลและเมืองรองของจีนด้วย เพิ่มจากตลาดหลักปัจจุบันที่ส่งไปเซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และกว่างโจว 2.อำนวยความสะดวกด้านข้อมูลการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย ได้ขอให้จีนอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลการค้า เช่น การจัดทำข้อมูล และกฎระเบียบทางการค้าของจีนเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจากภาษีจีน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น 3.การพิจารณายกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กับสินค้าไทย เช่นเดียวกับที่จีนปฏิบัติกับประเทศที่มีพรมแดนติดกัน โดยเฉพาะอาจใช้เวทีแม่โขงล้านช้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมเป็นกลไกหารือดำเนินการ

นางอรมนกล่าวว่า 4.การส่งเสริมให้เอกชนไทยและจีนเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และกิจกรรมส่งเสริมการค้า โดยจีนได้เชิญให้ไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้านำเข้า China international import expo จัดที่เซี่ยงไฮ้ปลายปีนี้ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านำเข้าครั้งใหญ่ตามดำรินายสี จิ้นผิง ที่ต้องการเพิ่มการนำเข้าด้วย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจาก 130 ประเทศ 2,800 บริษัท ผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.5 แสนคน เพื่อให้ชาวจีนรู้จักสินค้าคุณภาพของไทยให้มากขึ้น 5.การแก้ไขอุปสรรคทางการค้า เช่น เร่งรัดให้จีนมาตรวจโรงงานข้าวและผลิตภัณฑ์ที่ไทยได้ยื่นขอให้ตรวจสอบ และยังเหลือค้างอยู่อีกประมาณ 54 ราย จากที่จีนได้ตรวจขึ้นทะเบียนให้ไทยแล้ว 49 โรงงาน เพื่อให้โรงสีข้าวไทยที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและผ่านการตรวจสอบมีโอกาสส่งออกไปจีนได้ด้วย 6.ให้จีนอนุญาตให้นำเข้ารังนกแดงจากไทย ซึ่งกรมปศุสัตว์ของไทยได้ทำการตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัยต่อการบริโภค 7.ให้ทั้งสองฝ่ายหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีการนำชื่อสามัญไปจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ชื่อหมอนทอง ซึ่งเป็นชื่อสามัญ ขอให้จีนไม่รับจดเป็นเครื่องหมายการค้า เพื่อปฏิบัติตามหลักการสากลของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และ 8.ขอให้จีนเร่งรัดพิจารณาขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย 3 รายการ คือส้มโอทับทิมสยามปากพนัง มะขามหวานเพชรบูรณ์ และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น

กว้านซื้อที่สวนเกษตรรอบอีอีซี

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ราคาที่ดินในโซนตะวันออกมีการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อน ที่จะมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่องเที่ยว จึงมีการเข้าไปลงทุนพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์รองรับราคาที่ดินจึงปรับขึ้นไปแล้วส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ หลังจากโครงการอีอีซีเกิดขึ้นราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีความต้องการจากผู้ประกอบชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เข้ามาร่วมลงทุนกับคนไทย โดยเฉพาะที่ดินด้านพาณิชยกรรมในทำเลหลักต่างๆ ราคาที่ดินปรับเพิ่มเป็นเท่าตัวหรือมากกว่า 100% อาทิ พื้นที่ที่อยู่ใกล้กับสนามบินอู่ตะเภาที่จะมีการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการบินภาคตะวันออก รวมทั้งที่ดินที่อยู่ใกล้กับโซนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น อย่างไรก็ดี นอกจากพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้วยังพบว่าพื้นที่เกษตรกรรมยังมีราคาปรับขึ้นด้วยเช่นกัน

"ที่คาดไม่ถึงคือมีนักลงทุนสนใจพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ระยองและจันทบุรี โดยมีคนเข้าไปซื้อสวนผลไม้ สวนทุเรียน ราคาปรับขึ้นเป็นไร่ละ 2-3 แสนบาทต่อไร่ จากที่เคยอยู่ระดับต่ำกว่านี้ โดยส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนที่ซื้อเพื่อเก็งกำไรที่ดินในอนาคตในทำเล ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองจากพื้นที่เกษตรเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม และส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนรองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรบางรายไม่ขายที่ดิน เพราะราคามีแนวโน้มขยับขึ้นอีก จึงมีการให้เช่าที่ดินแทน" นายอิสระกล่าว

ก.ย.รู้ผลศึกษาตั้งรง.ผลิตรฟ.

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการเสนอผลการศึกษาโครงการแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายจึงอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดโครงการเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ข้อสรุปสุดท้ายภายในเดือนกันยายน 2561 เบื้องต้นผลการหารือร่วมกันต่างต้องการกำหนดให้รัฐมีการกำหนดขอบเขตการประมูล (ทีโออาร์) การจัดซื้อแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้มีการลงทุน การจัดซื้อในประเทศ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรระบบรางในประเทศเพิ่มขึ้น

"จากการหารือโครงการ เบื้องต้นพบว่า นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก็มีแนวคิดต้องการให้มีการพัฒนาระบบรางแบบยั่งยืนเช่นกัน ดังนั้นจึงมองว่า หากกำหนดในทีโออาร์ว่าผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาระบบรางในประเทศ ควรจะมีโรงงานประกอบรถไฟ เพื่อสร้างคน สร้างงาน พัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง" นายณัฐพลกล่าว และว่า สศอ.จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาพรวมของอุตสาหกรรมระบบราง โดยทำร่วมกับ รฟท. และศึกษาแนวทางการฝึกฝนบุคลากร ทำร่วมกับ สวทช. หากผลการศึกษาผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลจะมีการกำหนดรูปแบบความเหมาะสมของการก่อสร้างโรงงาน และค่าใช้จ่ายที่ต้องไม่สูงกว่าการนำเข้าตู้รถไฟมาจากต่างประเทศ

หวังลดนำเข้าประหยัด1.7หมื่นล.

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขั้นต่ำ 339 ตู้ ขณะที่ รฟท. มีความต้องการหัวรถจักร 314 ตู้ รถขนส่งสินค้า 3,460 ตู้ และรถไฟฟ้าความเร็วสูง 1 สาย 42 ตู้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมระบบรางรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางแต่อย่างใด ขณะที่รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2561 วงเงินลงทุนระบบรางสูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมาไทยใช้วิธีการนำเข้าขบวนรถไฟแบบสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ไม่เคยมีการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตรถไฟฟ้าหรือหัวรถจักรในประเทศ

"หากมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตและซ่อมแซมรถไฟในประเทศ โดยกำหนดให้มีการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศ จะก่อให้เกิดการลงทุนขั้นต่ำกว่า 500 ล้านบาท สามารถซื้อรถไฟได้ในราคาที่ลดลง 17,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนรถไฟ 6,000 ตู้ คิดเป็นค่าจ้างแรงงานกว่า 2,000 ล้านบาทที่จะกลับเข้าสู่ประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานที่ใช้ความรู้ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง" แหล่งข่าวกล่าว

พณ.เตรียมแผนส่งออกปี'62

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เรียกผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก ให้เดินทางกลับมาไทยในช่วงเดือนตุลาคม 2561 เพื่อมาประเมินการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 และแนวโน้มการส่งออกของปี 2562 ก่อนร่วมกันจัดทำแผนการขับเคลื่อนการส่งออก โดยต้องการให้มีการทำแผนล่วงหน้า เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง และสามารถขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศได้

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ในการประชุมนอกจากการจัดทำแผนขับเคลื่อนแล้ว จะมีการประเมินแนวโน้มการส่งออกของปี 2562 ด้วยว่าจะมีอัตราการเติบโตเป็นอย่างไร ท่ามกลางเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และต้องมีการประเมินปัจจัยลบต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2562 ด้วย เช่น ผลกระทบจากสงครามการค้า มาตรการกีดกันทางการค้า แนวโน้มราคาน้ำมัน และแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น เพราะปี 2562 การผลักดันให้การส่งออกเติบโตเหมือนปี 2561 คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องมีแผนทำงานและทำให้ดีที่สุด

"ผมอยากให้มีการประเมินกันล่วงหน้าถึงปีหน้า และทำแผนขับเคลื่อนล่วงหน้า เพราะนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงพาณิชย์มีความชัดเจนอยู่แล้ว ที่จะมุ่งผลักดันการส่งออก โดยใช้นโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ มุ่งเจาะตลาดเมืองรอง เมืองใหม่ๆ และเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม และส่งเสริมธุรกิจบริการ ทั้งดิจิทัล การดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว และร้านอาหารไทย เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องมีแผนการทำงานที่ชัดเจนในแต่ละเรื่อง และมาทำแผนขับเคลื่อนร่วมกัน" นายสนธิรัตน์กล่าว

ชู'หุ้นส่วนศก.ร่วม'สกัดเทรดวอร์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า สาเหตุที่สั่งการให้ประเมินและจัดทำแผนการขับเคลื่อนการส่งออกของปีต่อไป ตั้งแต่ปลายปี เพราะปี 2561 ได้ทำแผนและประเมินเป้าส่งออกล่าช้า โดยมีการสรุปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ดังนั้น นายสนธิรัตน์จึงต้องการให้กำหนดเป้าหมายและแผนทำงานปี 2562 ก่อนขึ้นปี เพื่อให้การทำงานขับเคลื่อนการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง และมีทิศทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะปี 2562 จะเผชิญกับเรื่องสงครามการค้า อาจผลกระทบต่อการค้าโลกชะลอตัว เพราะการค้าถูกบิดเบือน แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลายลงจะกลายเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออก จากกำลังซื้อดีขึ้น เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าส่วนใหญ่พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศในตะวันออกกลาง กำลังซื้อดีขึ้นตามราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า แผนการขับเคลื่อนการส่งออก เบื้องต้น จะกำหนดประเทศการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจร่วม อาทิ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เป็นต้น มีการกำหนดแผนขับเคลื่อนและกลยุทธ์การเจาะตลาด ให้ชัดเจน เช่น จีน จะกำหนดแผนเจาะตลาดเมืองและมณฑลใหม่ๆ ว่ามีอะไรบ้าง วิธีการอย่างไร การใช้โลจิสติกส์จีนในการกระจายสินค้าไทยทำอย่างไร เจาะตลาดฮาลาลในจีนทำอย่างไร ซึ่งประเทศเป้าหมายอื่นๆ ก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่กำหนดเป้าหมายตัวเลขเติบโตเท่านั้น ต้องลงลึกว่าพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการสินค้าต่างกันอย่างไร โดยเบื้องต้นเป้าหมายการส่งออกต่อปีต้องไม่ต่ำกว่า 8-12%

แบงก์พาณิชย์ไร้ทิศทางขึ้นดบ.

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในอนาคต หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากระดับ 1.50% ว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามทันที เพราะสภาพคล่องในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง และการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ก่อนหน้านี้มีการลดอัตราดอกเบี้ย โดยใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำกว่าปกติ (Teaser Rate) ซึ่งจะเห็นอัตราดอกเบี้ย MLR หรือ MRR ลบ ดังนั้น ที่ควรจะปรับก่อน คือ ปรับอัตราดอกเบี้ยทีเซอร์เรตขึ้น และจะเห็นสินเชื่อระยะยาว สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อปรับขึ้นบ้าง โดยเป็นการปรับดอกเบี้ย MLR หรือ MRR ให้ลบน้อยลง แต่ไม่มีความจำเป็นต้องปรับ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate) ในทันที อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กนง.ยังไม่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ต้องติดตามผลการประชุม

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เริ่มเห็น กนง.ส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งธนาคารประเมิน กนง.จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2562 แต่หาก กนง. ปรับช่วงปลายปี 2561 ก็ถือว่าเร็วกว่าที่ธนาคารประเมินไว้ เนื่องจากเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำ และสภาพคล่องในประเทศคงระดับสูง ดังนั้น เมื่อ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารก็ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อและเงินฝากขึ้น แต่คงไม่เป็นผู้นำในการขึ้น ต้องพิจารณาตามระบบธนาคารพาณิชย์ และธนาคารจะไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในทันที เพราะต้นทุนหลักไม่ใช่ต้นทุนดอกเบี้ยเท่านั้น แต่อยู่ที่ต้นทุนการสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลของธนาคารรวมอยู่ที่ 3%

ธอส.เคาะ6หมื่นล.หนุนมีบ้าน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ที่มีนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล เป็นประธานกรรมการ อนุมัติให้ ธอส.จัดทำโครงการบ้านล้านหลังภายใต้กรอบวงเงิน 60,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แบ่งเป็น สินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กู้จัดทำที่อยู่อาศัยที่มีราคาขายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหน่วย ไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหน่วยขายทั้งโครงการ อัตราดอกเบี้ย MLR - 1.25% ต่อปี เฉพาะกรณีสร้างที่อยู่อาศัยที่มีราคาขายไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนกรณีก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่มีราคาขายเกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR - 0.75% ต่อปี จากปัจจุบัน MLR อยู่ที่ 6.25% ต่อปี

นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย วงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับประชาชนทั่วไปกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือปลูกสร้าง และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี หากมีรายได้ไม่เกิน ไม่เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-5 คงที่ 3.00% ต่อปี ถ้ามีรายได้เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1- ปีที่ 3 คงที่ 3.00% ต่อปี หากกู้เงิน 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 3 ปีแรก เริ่มต้นเพียง 3,800 บาท โดยธนาคารได้รวบรวมที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ทั้งแนวราบและแนวสูง ซึ่งมีความพร้อมให้ผู้ซื้อเข้าอยู่อาศัย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 และมีแผนการก่อสร้างที่ชัดเจน จนถึงปี 2565 เข้าร่วมโครงการจำนวนรวม 270,000 หน่วย

หนีภาษีกระทบใช้น้ำตาลหดตัว

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมการบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศพบว่าชะลอตัวลงเล็กน้อย คาดว่าฤดูผลิตปี 2560/61 การบริโภคอยู่ที่ 25 ล้านกระสอบ น้อยกว่าที่ประเมินว่าจะอยู่ที่ 26 ล้านกระสอบ เนื่องจากพบว่าโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเครื่องดื่มเริ่มปรับกระบวนการผลิตลดการใช้น้ำตาลทรายลง เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีน้ำหวานที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่รัฐเห็นชอบเก็บภาษีเครื่องดื่ม ที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือภาษีน้ำหวาน มี 6 อัตรา ซึ่งภาพรวมภาษีจะสูงขึ้นประมาณ 2% จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 20% มีส่วนทำให้ผลิตโดยใช้น้ำตาลลดลง และอีกสาเหตุมาจากเทรนด์รักสุขภาพมีการโฆษณา รณรงค์การทานหวานน้อยลง ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งบริโภคน้ำตาลลดลง

นายบุญถิ่นกล่าวว่า หลังจากภาครัฐประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ทำให้ราคาขายน้ำตาลหน้าโรงงานทรงตัว เฉลี่ยอยู่ที่ 17-17.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ราคาขายปลีกเฉลี่ยที่ 20-21 บาทต่อ กก. ประกอบกับปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลผลิตสูงถึง 14.80 ล้านตัน ทำให้ตลาดน้ำตาลยังคงเป็นของผู้บริโภค คือ ผู้ซื้อที่ต้องการใช้ปริมาณมากไม่จำเป็นจะต้องซื้อเพื่อสต๊อกไว้เช่นอดีตที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกมีแนวโน้มตกต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 10 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือ อนท. ยังไม่สามารถเสนอขายราคาน้ำตาลทรายล่วงหน้าในฤดูการผลิตปี 2561/62 ได้เช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา

รง.จี้รัฐออกมาตรการรับมือ

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (ทีเอสเอ็มซี) กล่าวว่า การส่งออกน้ำตาล 6 เดือนแรกปี 2561 มีปริมาณ 6.5 ล้านตันน้ำตาล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน โดยเป็นการเร่งส่งออกเพื่อเตรียมรับอ้อยฤดูการผลิตใหม่ ปี 2561/62 ที่จะเปิดหีบช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ต่ำระดับ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์ และเมื่อนำมาคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2561/2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 700-750 บาทต่อตันอ้อย ถือเป็นระดับต่ำ ดังนั้น ระยะยาวการนำอ้อยผลิตน้ำตาลทรายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ การแก้ไขที่ยั่งยืน คือ รัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานนำผลพลอยได้จากกระบวนผลิตไปสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ อาทิ การนำกากน้ำตาล/น้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล หรือนำอ้อย/ชานอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยรัฐควรมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้น

ชี้'ไบโออีโคโนมี'ดีควรเพิ่มเงื่อนไข

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน รักษาการนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า การที่ภาครัฐมียุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ที่จะส่งเสริมนำอ้อยมาเพิ่มมูลค่าตั้งแต่การผลิตเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิง การต่อยอดสู่พลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน แต่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุนให้มากขึ้น อาทิ การอนุญาตให้โรงงานเอทานอลผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นได้ และมีระบบภาษีเกี่ยวข้องที่เหมาะสม

แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า ราคาอ้อยฤดูใหม่ (2561/62) ที่มีแนวโน้มตกต่ำ ขณะนี้โรงงานกำลังพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอร้อง แต่ยอมรับว่าแค่ปัญหาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2560/61 ที่คาดว่าจะต่ำกว่าขั้นต้นกว่า 100 บาทต่อตันนั้น จะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) แทบจะไม่มีเงินเพียงพอจะมาจ่ายคืนโรงงานแล้ว เรื่องนี้ทางโรงงานจะหารือเพื่อนำข้อสรุปไปหารือกับภาครัฐอีกครั้ง

ส.อ.ท.แนะรัฐคุมใช้งบ3ล้านล.

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ว่า ส.อ.ท.เห็นด้วย เพราะมีวงเงินจำนวนมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่กังวลคือตอนนี้งบค่าใช้จ่ายในส่วนของบุคลากรมีอัตราสูงถึง 30% ของวงเงินทั้งหมด เห็นว่าสูงเกินไป และเห็นว่าจำนวนข้าราชการมีเยอะเกินไป อยากให้มีนโยบายลดจำนวนข้าราชการลง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลัก เท่ากับต้องการให้เพิ่มระเบียบการทำงานของราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเน้นลดปัญหาการคอร์รัปชั่น ส่วนที่มีการเสนอเพิ่มเติมรายงานการขอใช้งบประมาณ เช่น งบกลาง งบรัฐวิสาหกิจ และกองทุนหมุนเวียน เชื่อว่าทุกหน่วยงานที่เสนอเห็นถึงความเหมาะสมที่ได้ของบประมาณเพิ่ม แต่อยากฝากให้ดูแลการใช้งบประมาณให้ตรงใจและถูกต้อง มีการประเมินผลจากการใช้เงินอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุน ไม่ใช่ดูแค่วงเงินทุนอย่างเดียว

 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ