ธปท.ชี้สัญญาณสินเชื่อฟื้นแบงก์หวังดันรายได้โต
Loading

ธปท.ชี้สัญญาณสินเชื่อฟื้นแบงก์หวังดันรายได้โต

วันที่ : 3 กุมภาพันธ์ 2560
ธปท.ชี้สัญญาณสินเชื่อฟื้นแบงก์หวังดันรายได้โต

ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

ธปท.ชี้มีสัญญาณสินเชื่อดีขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า สัญญาณการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบในปีนี้มีทิศทางปรับดีขึ้น มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาที่โต 3.6% ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์คาดหวังรายได้เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อขยายตัว

พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในภาพรวมสัญญาณการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบในปีนี้มีทิศทางปรับดีขึ้น มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีทิศทางปรับดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อยังมีต่อเนื่องและกระจายไปในหลายกลุ่มขึ้น แต่สินเชื่อจะขยายตัวได้สูงกว่า 3.6% ในปีที่ผ่านมาหรือไม่ ยังต้องติดตามดูต่อไป

ทั้งนี้ ธปท.รายงานการขยายตัว สินเชื่อทั้งระบบ รวมธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในปี 2559 ขยายตัว 3.6% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน มียอดคงค้างรวม 16.74 ล้านล้านบาท อัตราขยายตัวชะลอจาก 5.5% ในปีก่อนหน้า มียอดสินเชื่อคงค้าง 16.15 ล้านล้านบาท สินเชื่อส่วนใหญ่ 12 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ส่วนสินเชื่อธนาคารรัฐมีประมาณ 4 ล้านล้านบาท

ด้านเงินฝาก ธปท.รายงานว่าปี 2559 ขยายตัวที่ 3.8% อัตราสูงกว่าสินเชื่อ สะท้อนว่าสภาพคล่องในระบบยังมีปริมาณเพียงพอที่จะรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความต้อกงการกู้ของภาคธุรกิจบางส่วนที่อาจจะโยกจากการออกหุ้นกู้เอกชนมากู้ผ่านธนาคาร โดยยอดเงินฝากคงค้างอยู่ที่ 17.93 ล้านล้านบาท โดยอัตราเติบโตของเงินฝากชะลอลงจาก 5.3% ในปีก่อนหน้าเช่นเดียวกับสินเชื่อ และมียอดคงค้าง 17.27 ล้านล้านบาท

สำหรับภาวะการเงินในเดือน ธ.ค. 2559 ธปท.ระบุว่า ภาวะการระดมทุนของภาคธุรกิจในเดือนนี้ปรับเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน โดยยังกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและพลังงานทดแทน สอดคล้องกับการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ปริมาณ สินเชื่อใหม่ที่สถาบันการเงินให้กับภาคครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองทิศทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 คงเผชิญสภาพแวดล้อมที่มีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าปีที่ผ่านมา จากโจทย์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ โจทย์ด้านกติกา ทิศทางต้นทุนทางการเงิน และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เป็นโจทย์ที่แตกต่างจากช่วง 2-3 ปีก่อน ที่ความกังวลหลักจะอยู่ที่การฟื้นตัว ของเศรษฐกิจ

สำหรับโจทย์แรก อาจทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตชะลอลงในระยะสั้น จากการเดินหน้าโครงการระบบชำระเงินแห่งชาติ (National e-Payment) ในส่วนของ "พร้อมเพย์" ที่คาดว่าจะทำ ให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ปีนี้ได้รับผลกระทบราว 3,100-3,600 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่า 60% ของผู้ลงทะเบียนเปลี่ยนมาใช้พร้อมเพย์เป็นช่องทางหลักในการโอนเงิน

โจทย์ที่สอง การทยอยปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณคุมเข้มดอกเบี้ย อาจกดดันต้นทุนระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของไทย ที่ท้ายสุดจะส่งผลต่อต้นทุนการระดมเงินฝากก้อนใหม่บางส่วนของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะเมื่อสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋วและเงิน (LTD+B/E) ไต่ขึ้นเข้าใกล้ 98% ชี้ถึงสภาพคล่องที่ค่อนข้างตึงตัว และเป็นสัญญาณว่าการแข่งขันระดมเงินฝากจะเริ่มกลับมาเข้มข้นขึ้นในปีนี้

ทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ดังกล่าวทำให้ต้องจับตาดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วอย่างต่อเนื่อง และทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังมีนโยบายตั้งสำรองในระดับสูง

และโจทย์ที่สาม การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มแต้มต่อท่าม กลางความเข้มข้นของสนามการแข่งขันของบริการด้านการเงิน กระบวนการ Disruptive Innovation ในธุรกิจการเงินไทยในปัจจุบันที่คืบหน้าอย่างรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้นอีก หลังจาก ธปท.วางแผนจะให้ใบอนุญาตธุรกิจใหม่ๆ และเริ่มทดสอบ Regulatory Sandbox ในปี 2560 ทำให้สุดท้ายแล้วจะมีผู้เล่นทั้งฟินเทคและผู้ประกอบการในธุรกิจอื่น อาทิ อี-คอมเมิร์ซ โทรคมนาคม และค้าปลีก ก้าวเข้าสู่สนามแข่งขันกับบริการด้านการเงินของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ต้องยอมรับว่าการรับมือกับโจทย์ท้าทาย ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวข้างต้น บางส่วนอาจทำได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการด้านต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนจากการดำเนินงาน อาทิ การรับมือกับการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคมาสู่การเงินออนไลน์ ด้วยการปรับช่องทางกา รให้บริการมาเน้นช่องทางดิจิทัลและอิเล็กทรอ นิกส์มากขึ้น พร้อมๆ กับการปรับโมเดลสาขาของธนาคารพาณิชย์ ทั้งการควบรวมสาขา/การปิดสาขาที่ธุรกรรมไม่หนาแน่น

แต่บางส่วนก็อาจจะกลายมาเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หรือรายจ่ายต่อเนื่องสำหรับธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ด้วยเช่นกัน เช่น การยกระดับประสิทธิภาพของพนักงานสาขา (Upskill) ตลอดจนการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนในระบบเทคโนโลยีและธุรกิจฟินเทคที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมความเข้มแข็งและต่อยอดบริการอิเล็ก ทรอนิกส์ที่เป็นจุดเด่น ตลอดจนเพื่อแสวงหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจจะกลายมาเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมในอนาคต

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Costto-Income Ratio) ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 จะยังคงอยู่ในกรอบที่ไม่หนีไปจากปีก่อนที่ราว 43-44%

ส่วนการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายนั้น ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการวางกลยุทธ์บรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เตรียมปรับขึ้นไว้แล้วล่วงหน้า ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งคงช่วยทัดทานผลกระทบจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยตลาดได้ระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าความท้าทายดังกล่าวและการบริหารจัดการต้นทุนที่ถูกขึงให้ตึงมาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์จึงต้องหวังพึ่งการกลับมาขยายตัวของ สินเชื่อตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการควบคุมคุณภาพหนี้ โดยคาดว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 4% กรอบคาดการณ์ 3.0-5.0% หรือเพิ่มขึ้นราว 3.4-5.6 แสนล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปี 2559 สินเชื่อจะเติบโตประมาณ 2.5%) ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวของจีดีพีในปี 2560 ที่กรอบ 3.0-3.6% โดยคาดว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์รุกสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง (Yield) อาทิ สินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอี เพื่อช่วยเสริมความเข้มแข็งของรายได้ดอกเบี้ย

นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะช่วยทำให้สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs) มีโอกาสแตะระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ที่ 3.01% ก่อนที่จะปรับลดลงมาที่ 2.95% ในไตรมาส 4 โดยประเมินว่า อัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2560 นี้ ยังมีโอกาสทรงตัวในกรอบประมาณ 3.00-3.15% ใกล้เคียงกับปี 2559 แม้ว่าต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจะทยอยไล่ระดับขึ้นในระยะที่เหลือของปีนี้ก็ตาม สุดท้ายคือกำไรสุทธิปีนี้จะยังคงเติบโตได้ไม่สูงมากนัก หรือราว 3.0-4.0% เทียบกับปี 2559 ที่โต 3.2%

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์