นายกฯสั่งเร่งออกกฎหมายลดเหลื่อมล้ำ ดีเดย์ปี62 เก็บภาษีที่ดิน
Loading

นายกฯสั่งเร่งออกกฎหมายลดเหลื่อมล้ำ ดีเดย์ปี62 เก็บภาษีที่ดิน

วันที่ : 22 มีนาคม 2560
นายกฯสั่งเร่งออกกฎหมายลดเหลื่อมล้ำ ดีเดย์ปี62 เก็บภาษีที่ดิน

พื้นที่เกษตร-ที่อยู่อาศัย ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ไม่เสียภาษี

ครม.ไฟเขียวแก้ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กฤษฎีกาปรับแก้อัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า เริ่มเก็บที่ 2% เพิ่ม 0.5% ทุก 3 ปี มีเพดานสูงสุด 5% ชี้รัฐ-เอกชน พบกันครึ่งทาง เปิดโอกาสครอบครองที่ดินพัฒนาเชิงพาณิชย์ ให้อำนาจ รมว.คลังออกพ.ร.ฎ.บรรเทาภาษีได้สูงสุด 90% นายกฯเร่งกฎหมาย หวังแก้เหลื่อมล้ำ คาดเริ่มเก็บภาษีปี 2562

รัฐบาลเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ... คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บ ภาษีได้ในปี 2562 โดยไม่มีผลกระทบต่อที่ดินเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัย ได้รับการยกเว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เจอภาษีหนัก 2% เพิ่มขึ้น 0.5% ทุก 3 ปี

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (21 มี.ค.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .. โดยผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ภายใน 2-3 เดือน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ในครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญบางส่วนจากร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .. ฉบับเดิมซึ่ง ครม.ได้มีการเห็นชอบไปเมื่อเดือน มิ.ย.2559 โดยการแก้ไขอัตราการเก็บภาษีที่ดินซึ่งแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ โดยในส่วนของที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพกำหนดให้เก็บภาษีในอัตรา 2% จากเดิมที่กระทรวงการคลังเสนอให้เก็บภาษีในอัตรา 5% โดยการเริ่มเก็บภาษีในอัตรา 2%  จะสามารถปรับการเก็บภาษีขึ้นได้ครั้งละ 0.5% หากไม่มี การใช้ประโยชน์ โดยจะมีการประเมินทุก 3 ปี

อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีจะไม่เกินเพดานอัตราเพดาน 5% ส่วนที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมและที่เป็นที่อยู่อาศัยโครงไว้อัตราเดียวกับร่างของกระทรวงการคลังที่ 0.2 % เช่นเดียวกับที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์อื่น เช่น พาณิชยกรรม คงการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 2%

"การจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีการปรับลดการจัดเก็บภาษีลงจากอัตราเดิม เป็นการนำข้อเสนอของเอกชนมาพิจารณา ในประเด็นที่มีการร้องเรียนว่าการสะสมที่ดินไว้บางกรณีของเอกชนเป็นการสะสมที่ดินในลักษณะ Land bank เพื่อที่จะนำไปพัฒนาในช่วงเวลาที่เหมาะสมซึ่งก็จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเช่นกัน และถือเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐและ ภาคเอกชน" นายณัฐพร กล่าว

ให้อำนาจท้องถิ่นลดภาษีเพิ่มขึ้น

นายณัฐพร กล่าวว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขตามมาตรา 51 ที่เกี่ยวข้องกับการลดภาษีจากเดิมที่กระทรวงการคลังจะระบุว่ากรณีมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจสังคม หรือ สภาพแห่งท้องที่ให้สามารถลดภาษีโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่ต้องไม่เกิน 75% ของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย โดยแก้ไขเป็นต้องไม่เกิน 90% ของภาษีที่ต้องเสียเนื่องจากในบางกรณีที่ดินที่ได้รับมอบมาเป็นมรดกก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ครอบครองทรัพย์สินมีฐานะร่ำรวยก็ได้

พร้อมกันนี้ได้กำหนดให้มีการเพิ่มคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีสิ่งปลูกสร้าง โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดโดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สำหรับการจ่ายคืนดอกเบี้ยให้กับผู้เสียภาษีเดือนละ1%ในกรณีเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีผิด

ไม่จ่ายภาษีห้ามโอนกรรมสิทธิ์

รวมทั้งได้กำหนดให้ผู้ที่มีที่ดินที่จ่ายภาษีไม่ครบห้ามโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีหนี้ภาษียกเว้นการขายทอดตลอดเท่านั้น ส่วนกรณีการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลายประเภท ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บภาษีที่ดินตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ตามที่กระทรวง การคลัง และมหาดไทยร่วมกันกำหนด

ในส่วนของกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใดมีการใช้ประโยชน์หลายประเภทจากเดิมไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์หลายประเภท เพียงแต่กำหนดว่าให้คำนวณตามอัตราส่วนการใช้ประโยชน์ คณะกรรมการกฤษฎีกาเปลี่ยนเป็นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนดรวมทั้งมีการเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลให้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลแปลงที่ดินและข้อมูลเอกสารสิทธิ์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเตรียมการจัดเก็บภาษีด้วย

นายกฯสั่งเร่งออกกฎหมายลดเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้คาดว่าหลังจากกฎหมายผ่าน ครม.จะใช้เวลาในการพิจารณาใน สนช. 2-3 เดือน จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นระยะเวลา 1 ปีก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบเตรียมความพร้อม อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นกฎหมายภาษีจะต้องมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.ของปีถัดไปซึ่งคาดว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 ม.ค.2562

"นายกฯได้เร่งให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ออกมาประกาศใช้โดยเร็วที่สุดเพราะจะเป็นผลช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนไทยซึ่งตามขั้นตอนต่อจากนี้ ส่งเข้าสู่ สนช. และหลังจากนั้นจะให้เวลา 1 ปี เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้จัดเก็บภาษีได้มีเวลาเตรียมการ แล้วจึงจะจัดเก็บภาษีในเดือนม.ค.ของปีถัดไป คาดว่าเป็นเดือนม.ค.2562" นายณัฐพร กล่าว

คลังชี้เริ่มเก็บภาษีปี2562

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า หลังกฎหมายภาษีที่ดินผ่านครม. กระทรวงการคลังจะเร่งผลักดันเพื่อบรรจุวาระในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คาดว่า จะบรรจุวาระในการพิจารณาได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อเร่งผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2561 และแม้กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561 แต่ในการยื่นเสียภาษีจริงจะมีผลในปี 2562 เนื่องจาก ช่วงระยะเวลาการยื่นชำระภาษีจะดำเนินการภายในเดือนเมษายนของทุกปี

การจัดเก็บภาษีที่ดินจะไม่ทำให้คนจน เกษตรกร หรือคนที่มีบ้านหลังแรกเดือดร้อน เพราะภาษีที่จะเก็บส่วนใหญ่เก็บจากที่ดินเชิงพาณิชยกรรม ที่ดินอุตสาหกรรม และที่ดินเปล่า ซึ่งกฎหมายมีข้อยกเว้นสำหรับบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเก็บภาษี และ ที่ดินเกษตรไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี

ทั้งนี้ กลุ่มคนที่ถือครองบ้านหลังแรกและเกษตร มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทนั้นคิดเป็น 90% ของผู้ถือครองทั้งหมด ฉะนั้น ภาษีส่วนใหญ่ที่จะเก็บได้จากภาษีที่ดินมาจาก ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมถึง 90%

เจ้าของที่ดินหันสู่"ดีเวลลอปเปอร์"

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ผู้ให้คำปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเตรียมปรับตัว หรือ หาทางออกกับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มาระยะหนึ่งแล้วแต่ต้องรอติดตามต่อไปว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะปรับเปลี่ยนรายละเอียด ในสาระสำคัญเพิ่มเติมหรือไม่

ทั้งนี้ มองว่าเจ้าของที่ดินที่อาจได้รับผลกระทบจากแนวทางการจัดเก็บดังกล่าวคือ กลุ่มที่ได้รับมรดกที่ดินมา แต่อาจไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายภาษีที่ดินตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงกลุ่มอาคารพาณิชย์ที่ต้องจ่ายภาษีตามมูลค่าสินทรัพย์ก็ต้องจ่ายภาษีสูงขึ้น สุดท้ายก็จะปรับเพิ่มค่าเช่าจากผู้เช่าพื้นที่ภายในอาคารมากขึ้น

นอกจากนี้ เห็นว่าอาจมีเจ้าของที่ดินบางส่วน ขายที่ดินของตัวเอง หรือรวมแปลงกับเจ้าของที่ดินใกล้เคียงรายอื่น เพื่อขาย หรือไม่ก็ผันตัวเองไปเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำที่ดินของตัวเอง ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ลดภาระภาษีฯ

ทุเลาภาระภาษีลดแรงต้านพ.ร.บ.

ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ถือเป็นอัตรการจัดเก็บที่ใกล้เคียงกับร่างเดิมเมื่อปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าที่สุดแล้วอัตราการจัดเก็บภาษีฯจะประกาศออกมาอย่างไร โดยอัตราภาษีดังกล่าว เชื่อว่าจะจูงใจให้เจ้าของที่ดินนำที่ดินของมาพัฒนาอสังหาฯ ไม่ปล่อยให้ที่ดินรกร้าง เพื่อลดภาระภาษี

ส่วนการออกพ.ร.ฎ.ลดภาระภาษีได้ถึง 90 % เช่น กรณีที่ได้รับมรดกเป็นบ้านพร้อมที่ดินในย่านทองหล่อ ต่อมาราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นแต่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเจ้าของ นั้น เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี ถือเป็นการทุเลาภาระเจ้าของที่ดินบางแห่งที่ราคาที่ดินปรับขึ้นไปสูงแล้ว และยังเป็นการลดแรงต่อต้านการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ