หนี้เน่าแบงก์Q1ทะลุ4แสนล. คุมเข้มอนุมัติสินเชื่อรายย่อย
Loading

หนี้เน่าแบงก์Q1ทะลุ4แสนล. คุมเข้มอนุมัติสินเชื่อรายย่อย

วันที่ : 15 พฤษภาคม 2560
หนี้เน่าแบงก์Q1ทะลุ4แสนล. คุมเข้มอนุมัติสินเชื่อรายย่อย


          ธปท.ระบุเอ็นพีแอลไตรมาสแรกปี'60 ทะลุ 4 แสน ล. แบงก์กุมขมับหนี้เสียสินเชื่อบุคคลปีที่ผ่านมากระฉูด 37% หนี้เสียบ้านไม่น้อยหน้าโต 20% แบงก์สกรีนเข้ม ส่งผลยอดปฏิเสธให้กู้พุ่งเกือบทุกประเภท เคทีซีขยับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำเฟ้นลูกค้า ธปท.จับมือแบงก์หยุดวงจรหนี้รายย่อย จำกัดวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 เท่ารายได้

          NPL แบงก์ Q1 ทะลุ 4 แสน ล.

          ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ประกาศข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ไตรมาสแรกปี 2560 ในส่วนยอดคงค้างของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross NPLs) พบว่าเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ เติบโตมากขึ้นมาอยู่ที่ 405,328 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.95% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 13% หรือ 47,246 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีเอ็นพีแอล 358,082 ล้านบาท หรือ 2.64% และเพิ่มขึ้น 18,743 ล้านบาท หรือ 4.84% จากไตรมาส 4/2559 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 386,585 ล้านบาท หรือ 2.83% ต่อสินเชื่อรวม

          หากดูผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อรายย่อยไตรมาสแรก และแนวโน้มไตรมาส 2 ของ ธปท.ที่รวบรวมความเห็นจากสถาบันการเงิน 54 แห่ง พบว่า แบงก์ส่วนใหญ่ยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ในสินเชื่อรายย่อยในไตรมาสแรก และ ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ปีนี้ หากดูในส่วนดัชนีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยพบว่าลดลงในสินเชื่อเกือบทุกหมวด อาทิ สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต รถยนต์ และสินเชื่อ บัตรกดเงินสดต่าง ๆ

          หนี้เสียสินเชื่อบุคคลพุ่ง 37%

          ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวว่า หากดูเอ็นพีแอล สินเชื่อรายย่อยในฐานข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า เอ็นพีแอลของสินเชื่อกลุ่มนี้เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลที่เอ็นพีแอลที่พบหนี้เสียเติบโตกว่าทุกกลุ่ม โดย ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 166,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากสิ้นปีก่อน ส่วนสินเชื่อบ้านเอ็นพีแอลก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 126,479 ล้านบาท เติบโต 20.54% และบัตรเครดิตเอ็นพีแอลอยู่ที่ 53,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.83%

          "แม้ข้อมูลเอ็นพีแอลในศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโรไตรมาสแรกปีนี้ยังไม่ออก แต่ก็ คาดว่าเอ็นพีแอลรายย่อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต่ออย่างแน่นอน โดยเฉพาะเอ็นพีแอลใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในระบบข้อมูลเครดิตบูโร ในกลุ่มสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังพบการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง" นายสุรพลกล่าว

          เคทีซีขยับเกณฑ์เพิ่มรายได้ขั้นต่ำ

          ด้านนางสาวสุดาพร จันทร์วัฒนากุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทบัตรกรุงไทย หรือเคทีซี กล่าวว่า จากเอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคลที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบัน แบงก์ น็อนแบงก์มีการปรับมาตรการผู้กู้เพิ่มขึ้น เช่น การปรับฐานเงินเดือนของผู้กู้ เพิ่มขึ้น ซึ่งบางแห่งปรับขึ้นจาก 8,000 บาทเป็น 10,000 บาท เช่นเดียวกัน เคทีซี ที่ล่าสุดปรับฐานรายได้ผู้กู้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12,000 บาท จากปีที่ผ่านมาใช้ฐานรายได้ ขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อเดือน เพื่อกรองกลุ่ม ผู้กู้ที่มีศักยภาพมากขึ้นเข้ามาในระบบของบริษัท อีกทั้งที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มเงินเดือน ต่ำกว่า 10,000 บาทส่วนใหญ่ภาระหนี้ อยู่ระดับสูง ทำให้ศักยภาพในการชำระหนี้ ลดลง

          ขณะที่นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส หรือกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทไม่ได้มีการปรับฐานเงินเดือนผู้กู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากแบงก์ไม่อยากปิดโอกาสกับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เพราะบางรายก็มีหนี้ต่อรายได้ต่ำ และเป็นลูกค้าที่ดีต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่า หากดูยอดการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่านมา กลุ่มที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 12,000 บาทผ่านการอนุมัติสินเชื่อจากบริษัทค่อนข้างน้อย หรือมียอดผ่านการอนุมัติต่ำกว่า 30% หากเทียบกับกลุ่มเงินเดือนที่สูงกว่า 12,000 บาทที่มีค่าเฉลี่ยการอนุมัติเกิน 40%

          "สินเชื่อบ้าน" หนี้เสียซ้ำสอง

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เรื่องเอ็นพีแอลของธนาคารในภาพรวมถือว่าไม่ได้มากที่สุดในอุตสาหกรรม แต่ยอมรับว่าปัญหาเอ็นพีแอลมาจากเดิมมีการกระจายสินเชื่อในแต่ละอุตสาหกรรมน้อยเกินไป ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการปรับระบบกลไกทั้งหมดให้การปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพมากขึ้น เช่น การใช้ระบบเตือนล่วงหน้า และระบบการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้สินเชื่อที่เข้ามาใหม่เป็นเอ็นพีแอล น้อยลง

          ทั้งนี้ เอ็นพีแอลของธนาคารส่วนใหญ่ยังมาจากเอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่อรายย่อยเริ่มชะลอลง แต่ยังเห็นทิศทางว่ามีคนกลับมาเป็นหนี้เสียซ้ำหลังปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน สำหรับแบงก์ กรุงไทยคาดว่าเอ็นพีแอลจะถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางไตรมาส 2/2560

          นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เอ็นพีแอลของธนาคารกสิกรไทย ที่เข้ามา ตั้งแต่ต้นปีส่วนใหญ่ยังมาจากลูกค้า เอสเอ็มอีที่กระจายตัวในหลายธุรกิจ ทั้งจากกลุ่มลูกค้าเก่า ลูกค้าใหม่ และลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นหนี้เสีย อีกครั้ง ซึ่งบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งลูกค้าเอสเอ็มอี จะเชื่อมโยงไปสินเชื่อหลายประเภท เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน และอื่น ๆ

          "ลูกหนี้เอ็นพีแอลเรามีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว และแนะนำว่าลูกหนี้ที่มีปัญหาควรเข้ามาปรึกษาธนาคารแต่เนิ่น ๆ จะสามารถแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังควบคุมเอ็นพีแอลไว้ตามเป้าหมาย ซึ่งธรรมชาติแล้วเอ็นพีแอลจะปรับลดลงหลังจากเศรษฐกิจดีขึ้นประมาณ 9 เดือน ซึ่งธนาคารมองว่าสิ้นปีนี้เศรษฐกิจจะดีขึ้น" นางสาวขัตติยากล่าว

          คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อใหม่

          นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะ เจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เอ็นพีแอลบัตรเครดิตของธนาคารในช่วง 4 เดือนแรกปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของ ปีก่อน ซึ่งก็สอดคล้องกับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้นไม่มากเช่นกัน

          "หนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.15% ถือว่าน้อย เพราะมีการปรับตัวตั้งแต่ปี 2558-2559 ที่มียอดสินเชื่อเข้ามาไม่มาก เพราะมีการคัดกรองลูกค้ามากขึ้น แต่ก็ส่งผลดีให้ปัจจุบันสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างมีคุณภาพ ซึ่งฐานลูกค้าเรากว่า 80-90% เป็นมนุษย์เงินเดือน ทำให้สามารถคุมความเสี่ยงได้ดี" นายฐากรกล่าว

          นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อรายย่อยของธนาคารกรุงเทพส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน ซึ่งที่ผ่านมามีการดูแลอย่างต่อเนื่อง การปล่อยสินเชื่อ ยังคงเคร่งครัด ส่งผลให้เอ็นพีแอลไม่เพิ่มขึ้นมากนัก อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันก็ทำให้ลูกค้าบางรายมีปัญหา แต่ปีนี้ก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น

          "ในส่วนของธนาคารยังคงดูเรื่องคุณภาพสินเชื่อเป็นหลัก โดยเน้นเจาะเซ็กเมนต์เฉพาะ เช่น โครงการบ้านจัดสรรที่แบงก์ร่วมมือสนับสนุนสินเชื่อโครงการ" นายทวีลาภกล่าว

          ธปท.จับมือแบงก์หยุดหนี้รายย่อย

          นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาคธุรกิจ การเงินจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 3 ส่วน คือ 1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุน ซึ่งการทำระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นส่วนหนึ่ง 2) สร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบการเงิน อย่างสถาบันการเงินก็ต้องไม่รับความเสี่ยงเกินควร และ 3) ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินที่ถูกลง

          ทั้งนี้ วันที่ 17 พ.ค.นี้ ธปท.จะลงนามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหา หนี้สินรายย่อย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง ในการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากปัญหา หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และมีลูกหนี้หลายรายที่ต้องการการแก้ปัญหา ทาง ธปท.จึงเชิญสถาบันการเงินมาช่วยกันดูแล เพื่อทำให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้หลายทางหยุดวงจรการเป็นหนี้ได้

          แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวว่า จากนโยบายของ ธปท.ที่ต้องการคุมหนี้ครัวเรือน และลดปัญหาหนี้ในระยะยาว โดยเฉพาะการจำกัดการกู้สินเชื่อบุคคล และการถือครองบัตรเครดิต ตามฐานรายได้นั้นถือเป็นโจทย์สำคัญของ ธปท. เนื่องจากปัจจุบัน ธปท.เห็นความเสี่ยงจากเอ็นพีแอล ใน 2 กลุ่มนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเอ็นพีแอลในกลุ่มสินเชื่อบุคคล ที่มีเชิญชวนและการทำโฆษณาจากแบงก์และน็อนแบงก์ค่อนข้างมาก ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ไม่มีศักยภาพเข้ามาในระบบ

          จำกัดวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 เท่า

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานเรื่องเกณฑ์คุมการปล่อยกู้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ระบุว่า จากที่ ธปท.มีแนวคิดวางกรอบการ ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต "สำหรับลูกค้ารายใหม่" โดยส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลจะจำกัดวงเงิน สินเชื่อให้สูงสุดไม่เกิน 3 เท่า จากเดิม 5 เท่าต่อรายได้ ขณะที่บัตรเครดิตจะจำกัดจำนวนการถือครองบัตรเครดิต สำหรับลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (เบื้องต้นคือ 30,000 บาทต่อเดือน) ให้ไม่เกิน 3 แห่ง พร้อมกับจำกัดวงเงิน สินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 3 เท่า จากเดิม 5 เท่าของรายได้ ตลอดจนดูแลการผ่อนชำระสินค้าของผู้บริโภคให้อยู่ในกลุ่มที่มีความจำเป็นเป็นหลัก มากกว่าการมุ่งใช้จ่ายใน กลุ่มสินค้าที่เกินความจำเป็น ทั้งหมดนี้สะท้อนความพยายามในการมุ่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง จนล่าสุดมาแตะระดับ 79.9% ต่อ จีดีพี ณ สิ้นปี 2559

          เป้าหมายของ ธปท. คือการดูแลการก่อหนี้ของประชากรเจนวาย (Gen Y) ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล และเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง จึงเป็นแนวทางที่น่าจะช่วยลดการ "เพิ่มขึ้น" ของหนี้ครัวเรือน จากคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ ซึ่งกลุ่มคนเจนวาย ปัจจุบันมีประมาณ 14 ล้านคน หรือประมาณ 22% ของประชากรไทย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ