คลังเร่งสรุปมาตรการช่วยคนจน
Loading

คลังเร่งสรุปมาตรการช่วยคนจน

วันที่ : 29 พฤษภาคม 2560
คลังเร่งสรุปมาตรการช่วยคนจน

รายได้ต่ำ 3 หมื่น/ปี เน้นลดภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตร กยศ.ปล่อยกู้ตรงเฉพาะกลุ่ม

 

สศค.ชงมาตรการเพิ่มสวัสดิการคนจน ให้ระดับนโยบายได้พิจารณาแล้ว เผย ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี จะเน้นลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและเพิ่มรายได้ อาทิ ลดค่าใช้จ่ายด้าน การศึกษาบุตร และให้กยศ.ปล่อยกู้ เฉพาะกลุ่ม ส่วนที่รายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ต่อปี จะเน้นให้ได้รับสวัสดิการด้าน การเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำและค่าไฟ

 

นายกฤษฎา  จีนะวิจารณะ  ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้สรุปมาตรการสวัสดิการของรัฐ ที่จะให้เพิ่มกับผู้ที่ได้รับสิทธิจากการ ลงทะเบียนคนจนในรอบปี 2560 ซึ่งมีจำนวนราว 14 ล้านคน แก่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว โดยมาตรการที่เสนอไปนั้น มีจำนวน หลายรายการ ซึ่งจะครอบคลุมความช่วยเหลือ ด้านสวัสดิการแก่กลุ่มคนจนต่างๆ ทั้งที่ เป็นคนจนในเขตเมืองและคนจนที่อยู่ ต่างจังหวัด ส่วนจะเป็นมาตรการใดบ้างนั้น ทางปลัดกระทรวงการคลังและระดับนโยบายคงจะต้องหารือกันอีกครั้งก่อนเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

สำหรับกลุ่มคนที่ยากจน โดยมีรายได้ ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีนั้น ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิต โดยเฉพาะ ด้านการส่งเสริมการศึกษา เพื่อสร้างคนคุณภาพให้สังคม ซึ่งตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีอยู่ราว 4 ล้านคนนั้น จะเป็นกลุ่มคนที่กระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาหามาตรการ ช่วยเหลือให้คนเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

 

ตัวอย่าง มาตรการที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา เช่น กรณีคนจน ที่มีลูกและลูกต้องเข้าโรงเรียนภาคบังคับของรัฐบาล แม้ในปัจจุบัน รัฐจะอุดหนุนค่าเล่าเรียนให้เรียนฟรีในการศึกษาภาคบังคับก็ตาม แต่ผู้ปกครองก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในด้าน อุปกรณ์การศึกษา รวมถึง เสื้อผ้ารองเท้าด้วย ซึ่งรัฐอาจเข้าไปช่วยในส่วนนี้เพื่อ ลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนให้ คนกลุ่มนี้มีโอกาสเรียนจนจบภาคบังคับ

 

กรณีคนยากจน ที่สามารถส่งลูก เรียนต่อในสายอาชีพ หรือ ระดับปริญญาตรี ซึ่งรัฐไม่ได้อุดหนุนค่าเล่าเรียน ทางกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็สมควรที่ จะให้คนกลุ่มนี้กู้ เป็นลำดับแรกในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ หรือ ไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเลยปัจจุบัน กยศ.ให้เงินกู้แก่ นักเรียน นักศึกษา ในอัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำเพียง 1% กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ยาวนานถึง 15 ปี โดยให้ผู้กู้ต้องชำระหนี้หลังจากจบการศึกษาแล้ว 2 ปี

 

การออกแบบสวัสดิการให้แก่ คนมีรายได้น้อย ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี เป็นส่วนหนึ่งของ การออกแบบสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อย ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ซึ่งรัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ด้วยรถเมล์,รถไฟฟรี รวมถึง การอุดหนุนค่าน้ำประปา ในปัจจุบันไม่เกิน 5 หน่วย ต่อครัวเรือน ส่วนค่าไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อครัวเรือน เป็นต้น สำหรับยอดผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยล่าสุด มีคนมาลงทะเบียนรวม 14.1 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการคลัง กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อมูลว่าคนเหล่านี้ เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะจ้างนักศึกษา 6 หมื่นคนออกเดินสำรวจ เพื่อการตรวจสอบซ้ำอีกด้วย

 

ด้านนายอภิรมย์  สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แนวทางช่วยเหลือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้ไม่ถึงเส้น ความยากจน 3 หมื่นบาทต่อปีนั้น ธ.ก.ส. กำลังนำตัวเลขผู้ลงทะเบียนกับธ.ก.ส.ทั้งหมดกว่า 7.6 ล้านรายมาคัดกรอง

 

ในเบื้องต้นพบว่า กลุ่มประชาชน ผู้ที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี มีสัดส่วนเกือบครึ่ง หรือประมาณ 3.62 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 1.3 ล้านราย ผู้ว่างงาน 1.3 ล้านราย นักศึกษา 7 หมื่นราย ขณะนี้ กำลังพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือ  รวมถึง กำลังพิจารณาให้สินเชื่อว่า จะดำเนินการอย่างไร แนวทางที่จะดำเนินการ คือสนับสนุนการมีอาชีพ หรือปรับเปลี่ยนอาชีพให้มีรายได้อย่างถาวร จากตัวเลขพบว่ามีกลุ่มที่ว่างงานจำนวนมาก ดังนั้น มีแนวคิดว่าถ้าเป็นทายาทเกษตรกรอาจจะ จัดหาสินเชื่อพิเศษให้ รวมถึงการให้ทุน เพื่อไปประกอบอาชีพ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ