แก้กฎหมายสร้าง 'ตึกสูง' ผูกพันจำนวนช่องจราจร
Loading

แก้กฎหมายสร้าง 'ตึกสูง' ผูกพันจำนวนช่องจราจร

วันที่ : 6 มิถุนายน 2560
แก้กฎหมายสร้าง 'ตึกสูง' ผูกพันจำนวนช่องจราจร

          กทม.เร่งแก้กฎหมายสร้างตึกสูง ให้นับช่องจราจรแทนความกว้าง เขตทาง เพื่อให้เกิดเพิ่มความชัดเจนในการอนุญาตทำการก่อสร้าง แหล่งข่าวสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากข้อกำหนดทางกฎหมายในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้ การก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีขนาดพื้นที่อาคารรวมเกิน 10,000 ตารางเมตร แต่ไม่ถึง 30,000 ตารางเมตร หรืออาคารที่มีความสูงของอาคารเกินกว่า 23 เมตรขึ้นไป ต้องติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องกันตลอดนับตั้งแต่ที่ตั้ง อาคารไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่น ที่มีเขตทางเกินกว่า 10 เมตรเช่นกัน

          ซึ่งตามข้อกฎหมายดังกล่าว ทำให้ การก่อสร้างอาคารสูงนั้น พื้นที่ทาง สาธารณะ เมื่อมีการตรวจสอบพื้นที่นั้นๆ ทั้งการวัดจากสถานที่จริง การขึ้นทะเบียนพื้นที่อาคารเดิม และการระวางที่ดิน จะต้องมีพื้นที่เขตทางไม่น้อยกว่า 10 เมตรจึงจะสามารถอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงได้  อย่างไรก็ตามปัจจุบันถนน สายต่างๆ มีระยะยาวหลายกิโลเมตร ซึ่งข้อกำหนดของกฎหมาย การสร้างอาคารสูง ถนนต้องที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องกัน ตลอดนับตั้งแต่ที่ตั้งอาคารไปเชื่อมต่อ กับถนนสาธารณะอื่นนั้น ตามสภาพ พื้นที่จริง เขตทางอาจไม่ถึง 10 เมตร ตลอดแนว เนื่องจากมีการรุกล้ำพื้นที่ ของประชาชนผู้อยู่อาศัยในจุดนั้นๆ

          รายงานข่าวกล่าวต่อว่า กรณี ดังกล่าว เจ้าหน้าที่กทม. จะต้องเป็นผู้ทำการตรวจสอบเขตทางทุกพื้นที่ มิให้มีการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ เกิดขึ้น แต่ตามสภาพจริงนั้น การรุกล้ำ พื้นที่ของประชาชนบางส่วนที่รุกล้ำ ออกมาในพื้นที่สาธารณะเพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลให้เขตทางนั้นๆ ไม่ได้จำนวน 10 เมตรตามกฎหมาย ซึ่งการ ตรวจสอบการรุกล้ำพื้นที่ ด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด ทำให้เกิดการตรวจสอบไม่ทั่วถึงได้

          ดังนั้น กทม.จึงเสนอไปยัง กรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ซึ่งกำกับดูแลกฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้ปรับแก้กฎกระทรวง ที่กำหนดเป็นเขตทางไม่น้อยกว่า 10 เมตร เป็นประมาณ 10 เมตร และเพิ่มเติมข้อกฎหมายการอนุญาตก่อสร้างอาคารสูง เป็นการติดถนนสาธารณะที่มีช่องจราจร 2 ช่องจราจรขึ้นไป ไม่รวมทางเท้าสาธารณะ แต่หากพื้นที่นั้นๆ ไม่มีทางเท้าสาธารณะ การก่อสร้างอาคารสูงก็จะต้องมีช่องจราจร 4 ช่องจราจรขึ้นไป ซึ่งช่องจราจรในปัจจุบัน จะถูกกำหนดที่ขนาด 2.60-3 เมตร ต่อหนึ่งช่อง

          ทั้งนี้ การปรับแก้ข้อกฎหมายกำหนดเพิ่มเติมเป็นช่องจราจรนั้น จะช่วยให้การทำงานอนุญาตก่อสร้างอาคาร และการควบคุมอาคารในพื้นที่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมาก เกิดความสะดวก ชัดเจนในข้อกฎหมาย มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ กทม. ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับแก้ กฎหมาย กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ