รอลุ้นรถไฟอีอีซี-อยุธยา ชี้ภาครัฐเคาะประเภท แนะมองกลุ่มผู้ใช้เป็นหลักไม่ทับซ้อนเส้นอื่น
Loading

รอลุ้นรถไฟอีอีซี-อยุธยา ชี้ภาครัฐเคาะประเภท แนะมองกลุ่มผู้ใช้เป็นหลักไม่ทับซ้อนเส้นอื่น

วันที่ : 9 มิถุนายน 2560
รอลุ้นรถไฟอีอีซี-อยุธยา ชี้ภาครัฐเคาะประเภท แนะมองกลุ่มผู้ใช้เป็นหลักไม่ทับซ้อนเส้นอื่น

สนข.อุบไต๋รถไฟอีอีซีเชื่อมอยุธยา ย้ำต้องคำนึงกลุ่มลูกค้ารองรับไม่ทับซ้อนเส้นทาง ด้านเส้นกรุงเทพฯ-ระยองศึกษาเสร็จแล้ว

 

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า กรณีรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอให้ไทยขยายเส้นทางรถไฟจากระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ช่วงกรุงเทพฯ-ระยองไปสิ้นสุดที่ จ.พระนคร ศรีอยุธยาเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนระหว่าง 2 ประเทศ ว่าจะเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟอยุธยาในรูปแบบใด เป็นรถไฟธรรมดาเส้นเดิม เส้นใหม่ หรือรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งทราบเพียงว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ต้องการให้ขยายเส้นทางไปถึงอยุธยาเท่านั้น

 

"ข้อเสนอการเชื่อมต่อรถไฟให้ไปสิ้นสุดที่สถานีอยุธยานั้นยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นการขยายรถไฟความเร็วสูงจากดอนเมืองไปถึงอยุธยาหรือไม่ ดังนั้นต้องไปดูอีกครั้งว่าแนวคิดเป็นอย่างไร เพราะหากเป็นแบบนั้นจริงก็จะต้องมาดูกลุ่มลูกค้าด้วยว่าจะเป็นกลุ่มไหน จะทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หรือกรุงเทพฯ-หนองคาย หรือไม่ หากเป็นคนละกลุ่มก็คงไม่เป็นไร" นายชัยวัฒน์ กล่าว

 

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวอาจใช้เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างฝั่งทะเลตะวันออกและเส้นทางประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจด้วยว่าจะมีความต้องการใช้บริการ (ดีมานด์) ที่เหมาะสมกับความคุ้มทุนในการดำเนินการ ขณะเดียวกันก็ต้องออกแคมเปญการท่องเที่ยวของ จ.พระนครศรีอยุธยาสนับสนุนให้เกิดดีมานด์ขึ้นอีกด้วย เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีการเดินทางในระดับ 1 แสนคน และเมื่อไปถึงสถานีอยุธยาแล้วจะไปไหนต่อโดยทั้งหมดนี้จะต้องมาหารือในรายละเอียด

 

สำหรับความคืบหน้าผลการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯระยอง (ไฮสปีดเทรน) เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพื่อเตรียมดำเนินการเข้าสู่ขั้นตอนการให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) เนื่องจากนโยบายกำหนดให้รวมรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าว และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-ดอนเมือง เข้าสู่ขั้นตอนของพีพีพีไปพร้อมกัน

 

อย่างไรก็ตาม รูปแบบของไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-ระยอง ได้มีการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นจากเดิมสิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อ ให้ไปสิ้นสุดที่สถานีดอนเมือง เพื่อเป็นการเชื่อม 3 สนามบินเข้าด้วยกัน คือ สนามบินอู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จะเป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากพญาไท-ดอนเมือง เพื่อให้ขบวนรถที่วิ่งให้บริการอยู่ในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อจากสนามบินสุวรรณภูมิไปถึงดอนเมืองได้

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุถึงกรณี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อออกคำสั่งแก้ไขปัญหาให้โครงการรถไฟไทย-จีนเดินหน้าเร็วขึ้นนั้น ปัญหาเป็นเรื่องของวิศวกรชาวจีนที่ต้องมีใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (ก.ว.) ตามกฎหมายการก่อสร้างของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคม สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก อยู่ระหว่างออกแบบจัดทำข้อสอบมาตรฐานเพื่อนำไปทดสอบวิศวกรชาวจีน ส่งผลให้ถูกมองว่าขั้นตอนดังกล่าวเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการก่อสร้างโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ รวมทั้งมีปัญหาขั้นตอนการตีความกฎหมายมาตรฐานวิศวกรที่จีนจะได้รับอีกด้วย ส่งผลให้รัฐบาลจึงต้องกลับมาพิจารณาการใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเร่งให้โครงการรถไฟไทย-จีนสามารถเดินไปได้ตามแผนที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องจะเสนอโครงการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนนี้ก่อนลงนามสัญญาการก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตร (กม.) ภายในเดือน ก.ค.และเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย.นี้

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ