ญี่ปุ่นแซงจีนชิงไฮสปีด อยุธยา เชื่อมอีอีซี-เชียงใหม่
Loading

ญี่ปุ่นแซงจีนชิงไฮสปีด อยุธยา เชื่อมอีอีซี-เชียงใหม่

วันที่ : 12 มิถุนายน 2560
ญี่ปุ่นแซงจีนชิงไฮสปีด อยุธยา เชื่อมอีอีซี-เชียงใหม่

เกมเหนือชั้นญี่ปุ่นตัดหน้าจีน ยึดจุดยุทธศาสตร์ชุมทางอยุธยาเชื่อม กทม.-เชียงใหม่ ชิงแต้มต่อรถไฟไทย-จีน สาย กทม.-โคราช ชงลงทุนไฮสปีดเทรนสายใหม่ อีอีซีเชื่อม 3 สนามบินไปอยุธยา ลิตเติลโตเกียวในอนาคต เสนอร่วมทุน PPP สัมปทาน 50 ปี ร.ฟ.ท.เร่งสายตะวันออกอีก 3 เดือนประกาศร่าง ทีโออาร์เปิดประมูล ชี้โครงข่ายระบบราง 1.9-2 แสนล้าน บูมอีอีซี เต็มรูปแบบ "สมคิด" เกาะติดประชุมร่วม 2 รัฐมนตรีคมนาคม

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจโรดโชว์โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงตะวันออก (อีอีซี) ระหว่างวันที่ 5-8 มิ.ย. 2560 ที่ญี่ปุ่นปรากฏว่าญี่ปุ่นมีความสนใจลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ ขยายเส้นทางไปถึง จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นฐานอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นประกอบกิจการกระจายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวนมาก

 

ญี่ปุ่นจองไฮสปีดระยอง-อยุธยา

 

"ที่ญี่ปุ่นเสนอ เป็นการลงทุนโครงการเดิมที่เราศึกษาและแผนจะลงทุนอยู่แล้ว แต่ญี่ปุ่นสนใจและจะขอต่อขยาย เส้นทางจากสนามบินดอนเมืองไปถึงอยุธยา เบื้องต้นคงต้องดูรายละเอียดก่อน ยังไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนได้ขณะนี้ ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นก็จะเดินหน้าเหมือนเดิม สำหรับโครงการนี้ญี่ปุ่นเสนอสร้างเฟสแรก จากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ จะแล้วเสร็จปี'60"

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นสนใจจะร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ หลังคณะกรรมการอีอีซีมี นโยบายให้หลอมโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง ระยะทาง 193 กม. วงเงิน 152,528 ล้านบาท และส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์พญาไท-บางซื่อดอนเมือง ระยะทาง 20.74 กม. เงินลงทุน 41,863  ล้านบาท เป็นโครงการเดียวกัน ใช้เงินลงทุนรวม 194,391 ล้านบาท

 

แต่ญี่ปุ่นขอขยายเส้นทางเพิ่มจากดอนเมือง-อยุธยา ให้เชื่อมกับฐาน การผลิตของญี่ปุ่นจากระยองกับอยุธยา เข้าด้วยกัน ที่สำคัญใน อ.ศรีราชา และ อยุธยามีคนญี่ปุ่นอยู่อาศัยรวมทั้งทำงานอยู่จำนวนมาก จะทำให้การเดินทางไปทำงานแบบไปเช้า-เย็นกลับสะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะจะสามารถเดินทางจากระยอง-อยุธยา หรือ อยุธยา-ระยอง โดยใช้บริกาไฮสปีดเทรน ระยะทาง 286 กม.ได้ โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

 

3 เดือนประกาศทีโออาร์ประมูล

 

ทั้งนี้ ความคืบหน้าในการผลักดันโครงการดังกล่าว ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังศึกษารูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership-PPP) จะแล้วเสร็จสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ และคาดว่าจะเลือกรูปแบบ PPP Net Cost เหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าวสำโรง) โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนงานโยธา จัดหาระบบ และรับสัมปทานเดินรถและบริหารพื้นที่สถานีตลอดเส้นทางตั้งแต่ระยอง พัทยา ศรีราชา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สุวรรณภูมิ มักกะสัน พญาไท บางซื่อ ดอนเมือง จนถึงอยุธยา เบื้องต้นจะให้สัมปทาน 50 ปีขึ้นไป เพราะเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง น่าจะประกาศกำหนดขอบเขตและ รายละเอียดงาน หรือร่าง TOR ได้ภายใน 3 เดือนนี้ และได้ผู้ชนะการประมูลประมาณต้นปี 2561

 

"คณะกรรมการอีอีซีต้องการเร่งให้เกิดโดยเร็ว จะนำโครงการนี้เข้าไปใน PPP Fast Track ทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ เร็วขึ้น ให้รถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้โดยเร็วเพื่อดึง นักลงทุน เพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวใจสำคัญที่นักลงทุนต้องการเห็นเป็นรูปธรรม" แหล่งข่าวกล่าว

 

ปาดหน้าจีนปักธงระบบรางไทย

 

อีกทั้งยังเป็นการชิงไหวชิงพริบระหว่างญี่ปุ่นกับจีน เพื่อวางระบบรางช่วงบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี ระยะทาง 81.8 กม. ที่ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ยังเคลียร์พื้นที่ทับซ้อนไม่สำเร็จ เนื่องจากญี่ปุ่นยืนกรานไม่ใช้รางร่วมกับระบบอื่น ไม่ว่ารถไฟไทย-จีน (กทม.โคราช-หนองคาย) หรือแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย โดยขอสร้างรางแยกต่างหาก เพื่อวางระบบรถชินคันเซ็นสาย กทม.-เชียงใหม่ แต่ปัญหาคือปัจจุบันพื้นที่เขตทางรถไฟมีไม่เพียงพอ รองรับ

 

"เมื่อรัฐบาลไทยจะสร้างรถไฟความ เร็วสูง เชื่อมอีอีซีกับ 3 สนามบินมายังดอนเมือง ทำให้ญี่ปุ่นไม่ยอมเสียโอกาส เพราะถ้าได้ลงทุนโครงการนี้ ไม่ใช่แค่ได้วางระบบอาณัติสัญญาณช่วงบางซื่อ-ภาชี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญพัฒนาระบบราง เนื่องจากในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงจากภาชี-เชียงใหม่ และภาชี-โคราชแล้ว ถ้าญี่ปุ่นได้วางระบบ รายอื่นต้องใช้ระบบและซื้อขบวนรถของญี่ปุ่นด้วย ที่ผ่านมาญี่ปุ่นและจีนพยายามจะเปิดตลาดรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศไทย เพราะใครปักธงได้ก่อนย่อมมีความได้เปรียบกว่า"

 

อีอีซีเชื่อมกรุงเทพ-เชียงใหม่

 

นอกจากนี้ยังทำให้การต่อเชื่อม เส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปพิษณุโลกและเชียงใหม่เกิดได้เร็วขึ้น หากญี่ปุ่นได้เป็นผู้ก่อสร้างจากระยองมายังสนามบิน ดอนเมือง อยุธยา ซึ่งเป็นสถานีจอดรถไฟความเร็วสูงอยู่แล้ว สามารถสร้างต่อไปชุมทางบ้านภาชีไปยังพิษณุโลก และเชียงใหม่ได้ในอนาคต

 

"อีกเหตุผลหนึ่งที่ญี่ปุ่นเลือกจะลงทุนเส้นทางอยุธยาเชื่อมอีอีซี เพราะผลศึกษาความเหมาะสมของไฮสปีดเทรน กทม.พิษณุโลก 384 กม. วงเงิน 224,416 ล้านบาท ผลตอบแทนด้านเงินไม่คุ้มทุน จึงเสนอเส้นทางนี้เป็นทางเลือกหนึ่งรับกับโครงการอีอีซีที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งผลักดันพอดี"

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 12 มิ.ย. 2560 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปประชุม ร่วมกับ 2 รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี'60 และความคืบหน้าโครงการลงทุนในเขต อีอีซี พร้อมรับทราบโครงการลงทุน ขนาดใหญ่ในยุทธศาสตร์เร่งด่วน

 

รุกคืบเชิงพาณิชย์มักกะสัน

 

ด้านนายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้หารือกับรองอธิบดีกรมเมือง กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ที่ช่วยศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อ ทราบว่าจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค. 2561 และศึกษาความเหมาะสมของสถานีแปลงใหญ่ที่เป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท. 3 แปลง คือ มักกะสัน 497 ไร่ ย่าน กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ และสถานีแม่น้ำ 277 ไร่ จะแล้ว เสร็จมี.ค. 2561

 

"เท่าที่หารือกัน ญี่ปุ่นแสดงความสนใจลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน รองรับรถไฟความเร็วสูง และเป็นชุมทาง เชื่อม 3 สนามบิน และศูนย์กลางการเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพฯกับอีอีซี"

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ญี่ปุ่นเลือก จ.พระนครศรีอยุธยา เชื่อมกับ พื้นที่อีอีซี เพราะการเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้ามีต้นทุนไม่สูงมาก และอนาคตศูนย์การขนส่งสินค้าจะผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งอาจจะกลายเป็น "ศูนย์กลางธุรกิจเขตใหม่" ทดแทนกรุงเทพฯ

 

ประกอบกับมี "หมู่บ้านญี่ปุ่น" ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์การค้าขายของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทย และนักวิชาการญี่ปุ่น ปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่นด้วย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้งบประมาณช่วยเหลือแบบให้เปล่า 999 ล้านเยน หรือราว 170 ล้านบาท มีการสร้างบรรยากาศโดยรอบตกแต่งตามแบบอย่างของ "สวนญี่ปุ่น" เพื่อระลึกถึงชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้น หากเส้นทางไฮสปีดเชื่อม "อีอีซี-อยุธยา" สำเร็จ จะช่วยกระตุ้น ภาคการท่องเที่ยวในหมู่บ้านแห่งนี้ได้มากขึ้น

 

ชงด่วนให้บอร์ดอีอีซีพิจารณา

 

ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ได้รับ ทราบถึงแผนโครงการคร่าว ๆ ที่ทางญี่ปุ่น เสนอมาสำหรับโครงการสร้างทางรถไฟ ความเร็วสูงสายใหม่เบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะเป็นโครงการของเส้นเชื่อมต่อ จากบางซื่อไป จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการเดิมที่เคยศึกษาไว้แล้ว เนื่องจากมีโรงงานและบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก ทั้งค่ายรถยนต์ อุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่าง ฮอนด้า เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอดูแผนที่ลงรายละเอียดจากทางญี่ปุ่นและสถานทูตให้ชัดกว่านี้ แต่หากทางญี่ปุ่นนำเสนอทัน ก็จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ภายในเดือน มิ.ย.นี้ (จากเดิมประชุม 16 มิ.ย. 60 แต่เลื่อนออกไปอีก 1 สัปดาห์) ผลดีเรื่องการขนส่ง เพราะเส้นนี้มันทับเส้นเดียวกับที่ไปเชียงใหม่ ส่วนเรื่องอื่นยังไม่ได้ประเมิน เพราะเพิ่งคุยกันที่ญี่ปุ่น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ