รฟท.เร่งสัญญา2ฉบับไฮสปีด กทม.-โคราช เสนอครม.ไฟเขียวมิย.
Loading

รฟท.เร่งสัญญา2ฉบับไฮสปีด กทม.-โคราช เสนอครม.ไฟเขียวมิย.

วันที่ : 19 มิถุนายน 2560
รฟท.เร่งสัญญา2ฉบับไฮสปีด กทม.-โคราช เสนอครม.ไฟเขียวมิย.

รฟท.คาดเสนอ ครม.ไฟเขียว 2 ร่าง สัญญาไฮสปีดเทรน กทม.-โคราช ภายในเดือน มิ.ย. ย้ำไม่ตามใจจีน ทั้งหมด นายกสมาคมระบบรางค้านลงทุนไม่คุ้ม-เว้นวิศวกรจีน ไม่ขึ้นทะเบียน

 

จ่อชงครม.สัญญา2ฉบับมิ.ย.

 

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 เดินหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ว่าหลังจากนี้ไป รฟท.จะต้องเตรียมในเรื่องของสัญญาที่จะทำกับทางตัวแทนของรัฐบาลจีน ในส่วนที่เป็นสัญญาออกแบบและสัญญาควบคุมงานก่อน ซึ่งเป็นส่วนที่เร่งด่วน เมื่อได้แบบมาแล้วจะเร่งประกาศหาตัวผู้รับจ้างเพื่อเร่งดำเนินการต่อไป และทยอยประกวดราคางานที่อยู่ชั้นโครงสร้างใต้รางลงมา โดยสัญญาออกแบบและสัญญาควบคุมงานที่ทำก่อนหน้านี้ หมายถึงเฉพาะส่วนโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯนครราชสีมา ระยะ 3.5 กิโลเมตร (กม.) ก่อน โดยในขั้นตอนการทำร่างสัญญาออกแบบและคุมงานเมื่อ รฟท.ทำเสร็จแล้ว จะต้องส่งให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอัยการพิจารณา ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการร่างสัญญามีกรอบการร่างไว้บ้างแล้ว และคุยกับอัยการบ้างแล้ว โดยในทีมงานร่างสัญญามีทั้งอัยการ และ ผู้เชี่ยวชาญอยู่ด้วย จากนี้ต้องดูร่างสัญญาให้กระชับ ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์มากขึ้นหลังจากมีคำสั่ง ม.44 คาดว่าตามแผนงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเสนอร่างสัญญาทั้ง 2 ฉบับเข้า ครม.ในเดือนมิถุนายนนี้ หรือต้นเดือนกรกฎาคม

 

งานโครงสร้างยึดกม.ไทย100%

 

"ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. จะต้องเห็นการเซ็นสัญญา 2 สัญญา คือ สัญญาออกแบบ และสัญญาคุมงาน แต่ก่อนจะทำสัญญาที่ 3 หน้าที่ รฟท.จะต้องประกวดราคา หาผู้มาทำงานโครงสร้างใต้รางรถไฟความเร็วสูงก่อน ส่วนสัญญาที่ 3 งานระบบ เดินรถและอาณัติสัญญาณ ยังมีเวลา" นายอานนท์กล่าว และว่า รถไฟความเร็วสูง ช่วงแรก 3.5 กม.แรก ค่าก่อสร้างงานที่อยู่ใต้ราง ประมาณ 200-300 ล้านบาท แต่ทั้งโครงการช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทั้งหมด 250 กิโลเมตร ที่เป็นงบประมาณงานก่อสร้าง รวมทั้งรถสามารถวิ่งได้ ใช้งบประมาณรวมราว 1.79 แสนล้านบาท แบ่งเป็นประมาณ 1.3 แสนล้านบาท คือ งานโครงสร้างที่อยู่ใต้รางลงมา คือ งานก่อสร้างโครงสร้าง เป็นสะพานที่รองรับการวางรางรถไฟ ตรงนี้ไม่อยู่ในมาตรา 44 จะปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 100% อยู่แล้ว ส่วนผู้รับเหมาก่อสร้างอาจจะเป็นทั้งของไทยและต่างชาติ ส่วนงบประมาณอีก 4 หมื่นกว่าล้านบาท จะเป็นงานตัวราง ระบบอาณัติสัญญาณ ตัวรถ

 

รฟท.ชี้รักษาประโยชน์คนไทย

 

นายอานนท์กล่าวถึงกรณีการอนุญาตให้วิศวกร สถาปนิกของจีนเข้ามาปฏิบัติงาน โดยไม่ต้องอยู่ในบังคับกฎหมายไทยว่า ก็ต้องยอมรับว่าประเด็นการอนุญาตหรือไม่อย่างไรรวมอยู่ในร่างสัญญาออกแบบ โดย รฟท.เองมองว่าก่อนการเซ็นสัญญา วิศวกรจากจีนที่มีรายชื่อเซ็นสัญญาก็อาจจะต้องมีการอบรม มาสอบ ตามความเหมาะสมที่ระบุไว้ในคำสั่ง ตามมาตรา 44 หากไม่มีขั้นตอนดังกล่าวทาง รฟท.เองก็ไม่สบายใจ ส่วนประเด็นเรื่องถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีนให้กับไทยในแง่การทำงานของวิศวกรนั้น ในร่างสัญญาได้วางกรอบไว้ว่าเป็นการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว  ส่วนการเจรจาระหว่างไทยกับจีน มีการเจรจาทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติงานมาตลอด ใน 18 ครั้งที่ผ่านมา ต่อจากนี้จะมีการพบกันและเจรจาหรือไม่ จะเป็นเมื่อไหร่นั้น เข้าใจว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะประชุมวิดีโอทางไกลกับผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้อง

 

"ในการจะร่างสัญญาระหว่างไทยกับจีน และคิดราคากลาง รฟท.ก็พยายามอ้างอิงมาตรฐานที่เรามีอยู่ให้มากที่สุด ไม่ให้คนไทยเสียเปรียบมาก และไม่ใช่ตามใจเขาทุกอย่าง มีการเจรจาต่อรองกันตลอดเวลา รฟท. ก็พยายามรักษาผลประโยชน์คนไทยให้มากที่สุด" นายอานนท์กล่าว

 

ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทางกระทรวงได้มีการชี้แจงรายละเอียดไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าการใช้ ม.44 เพื่อให้กระบวนการดำเนินโครงการรวดเร็วขึ้น ทั้งกระบวนการจัดจ้าง การประกวด การเข้ามาทำงานของวิศวกรจีนและสถาปนิกจีน รวมทั้งกำหนดเวลาดำเนินการ เป็นต้น

 

พท.ติงใช้ม.44รฟ.ไทย-จีน

 

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ไม่สบายใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 เดินหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วหลังจากนี้ไม่ควรมีการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังหมิ่นเหม่ต่อการขัดกับระบบนิติธรรม และกระทบต่อเกียรติภูมิของประเทศ ส่งผลถึงการขาดความเชื่อมั่นที่สังคมโลกจะมีต่อประเทศไทย และการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศจีนในโครงการรถไฟความเร็วสูง จะส่งผลให้นานาประเทศที่มีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงขาดโอกาสในการแข่งขันและจะส่งผลตามมาอย่างร้ายแรง คือ ประเทศไทยจะขาดความเชื่อมั่นในสังคมโลกว่า กระบวนการในระบบกฎหมายของไทยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยเฉพาะในการทำนิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประการสำคัญ หลักธรรมาภิบาล ที่ปรากฏอยู่ในคำถาม 4 ข้อ ที่นายกฯได้สอบถามความเห็นประชาชนจะถูกทำลายลงจากออกคำสั่งดังกล่าวเสียเองหรือไม่

 

วสท.ห่วงซ่อมบำรุงอนาคต

 

นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงคำสั่งตามมาตรา 44 ในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาว่า ทาง วสท.ไม่ได้ออกมาค้านโครงการ แต่อยากให้โอกาสวิศวกรไทยได้เข้าไปทำงานและเรียนรู้จากวิศวกรจีน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายนนี้ จะเข้าไปพบรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องที่จะเสนอให้ผู้ใหญ่ทราบมีเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพียงเรื่องเดียว จากเดิมที่มี 2 เรื่องคือ การขึ้นทะเบียนของวิศวกรจีนและการถ่ายโอนเทคโนโนโลยี

 

"การถ่ายโอนเทคโนโลยีหรือเทคโนโลยีทรานเฟอร์ในต่างชาติ จะใช้วิศวกรประกบคู่ในสัดส่วน 1:1 เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีที่ในไทยอาจจะไม่มี แต่ทั้งนี้เป็นเพียงข้อเสนอ แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่จะรับฟัง เพราะทาง วสท.ไม่ได้คัดค้านโครงการ ในส่วนรายละเอียดการเข้าพบในขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะพบรองนายกรัฐมนตรีท่านไหน จะต้องรอทางรัฐบาลติดต่อกลับมาอีกครั้ง" นายธเนศกล่าว และว่า เรื่องมาตรฐานก่อสร้างจีน มองว่าก็ไม่น่าจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน แต่อาจจะไม่ตรงกับมาตรฐานไทยทั้งหมด ในส่วนนี้จึงต้องมีการประยุกต์ นี่คือสิ่งบอกว่าเทคโนโลยีทรานเฟอร์จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะได้เรียนรู้ว่ามาตรฐานการก่อสร้างจีนเป็นอย่างไร เพราะการบำรุงซ่อมแซมในอนาคตจะต้องซ่อมแซมตามมาตรฐานจีน หากมีการทำเทคโนโลยีทรานเฟอร์จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติในเรื่องการดูแลและบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูงในอนาคต

 

สมาคมวิศวะค้านไม่คุ้มลงทุน

 

นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) กล่าวว่า นอกจากการทำโครงการรถไฟความเร็วสูงแล้ว ควรต้องสร้างคนขึ้นมาพร้อมๆ กันด้วย ไม่ใช่แค่เอาระบบมาวางแล้วใช้งาน แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมก่อสร้างและการพัฒนาเมืองควบคู่ไปด้วย เพราะผลการทำโครงการจะมีผลกระทบตามมาอีกมาก ทั้งนี้ทาง วศรท.ขอแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งมาตรา 44 ใน 2 ประเด็นคือ 1.การทำโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่คุ้มกับการลงทุน คิดเฉลี่ยรัฐบาลจะมีรายได้ประมาณ 10 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน จากการให้บริการประชาชนประมาณ 10,000 คนต่อวัน ในขณะที่มีการลงทุนในโครงการประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่าสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำก่อนการสร้างรถไฟความเร็วสูงคือ การทำรถไฟทางคู่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการคุ้นเคยกับการขนส่งระบบราง แล้วจึงขยับมาทำโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีด และ 2.การใช้วิศวกรจีนทั้งหมดเข้ามาทำงาน โดยยกเว้นให้ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อมาทำงานในเมืองไทยก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายไทย เช่นเดียวกับการที่เราไปทำงานต่างประเทศ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ

 

ไม่เชื่อมั่นมาตรฐาน-เคยตกราง

 

"ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องทำโครงการรถไฟความเร็วสูง จากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ไม่ได้จะว่าอะไร แต่จะต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากรให้ต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่กู้เงินเขา และเขามาทำให้เสร็จแล้วกลับ แล้วเราต้องมานั่งแบกหนี้ เพราะการทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานหากขาดทุนแล้วยกเลิกโครงการไม่ได้ ส่วนเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างจีน ส่วนตัวยอมรับว่ายังไม่เชื่อมั่นในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของระบบอาณัติสัญญาณ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนยังเคยมีเหตุการณ์รถไฟตกราง ต่างกับญี่ปุ่นที่ประกาศว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดอุบัติเหตุใหญ่ ยกเว้นตอนเกิดแผ่นดินไหว ในขณะเดียวกันก็เป็นห่วงเรื่องคุณภาพสินค้าจีน เพราะในธุรกิจระบบรถไฟฟ้า ก็มักจะนิยมใช้สินค้าจากทางยุโรป เช่น ซีเมนส์ เป็นหลักมากกว่า" นายดิสพลกล่าว

 

หอการค้าโคราชเชื่อศก.เฟื่อง

 

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงกรณี พล.อ. ประยุทธ์ใช้คำสั่งมาตรา 44 เดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯนครราชสีมาว่า ส่วนตัวเห็นว่า จ.นครราชสีมามีความโชคดีหลายอย่าง ที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อสร้างด้านการขนส่งใหญ่ๆ มาลงในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา และโครงการรถไฟทางคู่ ดังนั้นเมื่อมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาอีก ก็จะเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งมวลชนได้อย่างดีเยี่ยม ถึงแม้ว่าตนจะทราบดีว่าที่ผ่านมาโครงการนี้จะติดข้อปัญหาด้านกฎหมายหลายอย่าง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ได้ใช้ ม.44 เข้ามาดำเนินการก็จะยืดเยื้อไปอีก ไม่ได้สร้างสักที ทั้งนี้ผลของการได้รถไฟความเร็วสูงจะทำให้ จ.นครราชสีมากลายเป็นเมืองคู่แฝดของกรุงเทพมหานครทันที และจะเป็นเมืองที่มีความเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะการเดินทางระหว่าง 2 เมืองมีความสะดวกรวดเร็ว ทำให้ประชาชนที่มีความแออัดอยู่ในกรุงเทพมหานครพากันออกมาอยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมาเพิ่มขึ้น นักธุรกิจ นักลงทุน ก็ต้องมองมาที่ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจด้าน อสังหาริมทรัพย์

 

นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยได้แน่ๆ คือได้รถไฟความเร็วสูงและได้เป็นหนี้สูงขึ้นอีก คนโคราชได้ประโยชน์แน่นอน เพราะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการเดินทาง ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโคราช ที่น่าสนใจคือในอนาคตจีนจะยอมลงทุนสร้างต่อให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ซึ่งคิดว่ายาก

 

กยท.ชี้แนวโน้มยางราคาดีขึ้น

 

ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย กล่าวว่า วันที่ 20 มิถุนายน ในนามตัวแทนสมาคมครกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย จะเดินทางขึ้น กทม. เพื่อขอเข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือตัวแทนรัฐบาล เพื่อเสนอทางออกการแก้ไขปัญหาราคายาง ทั้งระยะวิกฤตเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อให้รัฐบาลได้รับรู้ปัญหาที่แท้จริง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลเว็บไซต์การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุถึงความเคลื่อนไหวราคายางชนิดต่างๆ ว่า ขณะนี้ราคายางพาราทุกประเภท เช่น ยางแผ่นดิบ น้ำยางสด ยางแผ่นรมควันชั้น 3 มีแนวโน้มราคาขยับขึ้นแล้ว จากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากประมาณช่วงต้นเดือนมิถุนายนราคายางพาราได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดข้อมูลวันที่ 16 มิถุนายน ราคาท้องถิ่น ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 54.10 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) น้ำยางสด (ณ โรงงาน) อยู่ที่ 52 บาทต่อ กก. ส่วนราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ ยางแผ่นดิบ อยู่ที่ 57 บาทต่อ กก. ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 อยู่ที่ 59.19 บาทต่อ กก. ขณะที่ราคาส่งออก ณ ท่าเรือกรุงเทพ (FOB) อยู่ที่ 63.40 บาทต่อ กก. เป็นต้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ