สมคิด ชู 8 พันธกิจปลุกลงทุนไทย
Loading

สมคิด ชู 8 พันธกิจปลุกลงทุนไทย

วันที่ : 23 มิถุนายน 2560
สมคิด ชู 8 พันธกิจปลุกลงทุนไทย

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเปิดงานสัมมนาผู้ลงทุนในตลาดทุนระดับนานาชาติ "Thailand's Big Strategic Move" พร้อมให้ข้อมูลแผนยุทธศาสตร์และโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

          เอเชียกำลังเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจในยามที่โลกชะลอตัว เอเชียกำลังเป็นพลังใหม่ที่จะร่วมประสานกับภูมิภาคอื่นของโลกในการต่อสู้กับแนวคิดการปกป้องตนเอง และกระแสการถดถอยของโลกาภิวัตน์ที่กำลังก่อตัวในขณะนี้ มีการนำเสนอทางเลือกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการสร้างเขตการค้าเสรีใหม่ อาทิ นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน ขณะที่ญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเขตความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ (อาเซฟ) ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียนบวกหก ที่ครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลก เอเชียคือหัวใจทั้งสิ้น

          สำหรับประเทศไทย แม้ไม่ใช่ประเทศใหญ่แต่ในด้านศักยภาพไม่มีใครจะปฏิเสธได้ ด้วยการเป็นประเทศที่พร้อมมูลด้วยทรัพยากร และด้วยตำแหน่งอยู่ใจกลางของอาเซียนและซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ไทย) เป็นหัวใจของซัพพลายเชนและโลจิสติกส์แห่งเอเชีย ยิ่งเมื่อจีนประกาศ One Belt One Road ประเทศไทยยิ่งโดดเด่นเพราะ อยู่บนเส้นทางเชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่กับเส้นทาง ทางทะเล

          ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้วิกฤตเป็นโอกาสให้กับประเทศ ในด้านหนึ่งได้นำประเทศกลับคืนสู่ความสงบและความมีเสถียรภาพ และก้าวตามโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งในปีหน้า ขณะเดียวกันด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผล นำความเชื่อมั่นกลับคืนมาด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากตกต่ำถึงขีดสุด เศรษฐกิจขยายเพียง 0.8% เมื่อ 3 ปีก่อน กลับฟื้นคืนขยายตัว 2.9% และ 3.2% ในปีก่อน และไตรมาสแรกปีนี้ ก็โต 3.3% คาดว่าจีดีพี ทั้งปี 2560 จะขยาย 3.5% หรือสูงกว่า เพราะ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

          อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ของประเทศคือ จะให้การเติบโตยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้อย่างไร และในยามที่เอเชียกำลังทวีบทบาทสูงขึ้น ไทยจะสามารถสร้างโอกาสและเป็นส่วนหนึ่งของกระแสแห่งเอเชียได้อย่างไร เพื่อตอบโจทย์นี้ในช่วง 3 ปีรัฐบาลได้เริ่มขับเคลื่อนนโยบายหลายประการ ถือเป็นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาครั้งสำคัญของประเทศ ได้แก่

          1.จากเศรษฐกิจเน้นการส่งออกมาเป็นเศรษฐกิจเติบโตแบบสมดุล อาศัยปัจจัยภายนอกและภายใน อาทิ การส่งออก การลงทุนและท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น มียุทธศาสตร์การสร้างความ เข้มแข็งในชนบท ทั้งระดับกลุ่มจังหวัดและระดับฐานราก ความสมดุลนี้จะเป็นหลักประกันให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงสมดุล โดยไม่ต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอกจนเกินพอดี

          2.จากการเน้นต้นทุนต่ำสู่เศรษฐกิจที่เน้นมูลค่าเพิ่ม ด้วยการค้นคว้าวิจัย และด้วยความคิดสร้างสรรค์ การผลักดันให้เกิดคลัสเตอร์การผลิตที่มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการสถาบันศึกษา และสถาบันวิจัย เพื่อเป็นบ่อเกิดแห่งนวัตกรรม ผลักดันมาตรการการจูงใจทางภาษีให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) เน้นการค้นคว้าวิจัยเป็นตัวนำการผลิต

          3.เร่งโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ หลังจากที่หยุดชะงักไปนานกว่า 2 ทศวรรษ ประเทศไทยกลับมาประกาศการลงทุนครั้งใหญ่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยเงินลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งการสร้างถนน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ โครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การสร้างและพัฒนาสนามบิน ท่าเรือ และสถานีขนส่งสินค้า โดยมีเงินลงทุนจาก 4 แหล่ง คือ งบประมาณแผ่นดิน การกู้ยืม การร่วมลงทุนกับเอกชน และกระทรวงการคลังเตรียมจำหน่ายหน่วยลงทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยจะจำหน่ายล็อตแรกไตรมาส 3-4 ปีนี้ แหล่งเงินเหล่านี้ จะช่วยประหยัดงบประมาณและรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่ให้เกินระดับ 50% ในโครงการที่จะขับเคลื่อนไปได้ใน 5 ปีข้างหน้า

          4.การเดินหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รัฐบาลได้จัดพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดเริ่มต้นพร้อมโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะในอีอีซีกว่า 4 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีโครงการร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก และโครงการร่วมพัฒนาระหว่างไทยกับมิตรประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นและจีน

          5.มุ่งสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ รัฐบาลได้จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อเตรียมการรองรับการก้าวสู่ยุคดิจิทัล ได้เริ่มโครงการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดยจัดสรรงบ 2.5 หมื่นล้านบาท ให้มีอินเตอร์เน็ตใช้กว่า 2.4 หมื่นหมู่บ้านในปีนี้ และอีก 2 หมื่นหมู่บ้านในปีหน้า จะมีผลทั้งในเชิงของการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข การค้าผ่านอีคอมเมิร์ซจากชนบทสู่โลก การลงทุนในสายเคเบิลด้วยงบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อกับต่างประเทศ เพื่อให้ไทยสามารถเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลเกตเวย์ของภูมิภาคในอนาคต

          ขณะนี้ไทยได้เริ่มโครงการร่วมมือทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชนจากต่างประเทศ และได้ส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านนี้อย่างจริงจัง ทั้งในด้านอินเตอร์เน็ต อินเตอร์เน็ตออฟธิง บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยแสวงหาความร่วมมือ ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ และกับเอกชนที่เป็นผู้นำทางด้านนี้ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี

          6.ต้องเป็นสตาร์ตอัพเนชั่น เพราะหมดสมัยแล้วตลาดหลักทรัพย์จะมีแต่บริษัทใหญ่ ต้องนำบริษัทใหม่ ที่เกิดขึ้นเข้ามาในตลาด เพราะป่าที่อุดมสมบูรณ์ ย่อมประกอบไปด้วยต้นไม้อันหลากหลายที่หนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ฉันใด เศรษฐกิจจะเต็มไปด้วยพลังขับเคลื่อนที่ทรงพลังหากเต็มไปด้วยผู้ประกอบการ ที่มีพลวัตและสร้างสรรค์ ไม่ว่าเล็ก กลาง หรือใหญ่ ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ คือผู้สร้างนวัตกรรมและ ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

          7.การเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

          - เชื่อมโยงกับซีแอลเอ็มวี ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงในเชิงของความมั่นคง แต่เชื่อมโยงในเชิงของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ นโยบายการก้าวไปด้วยกัน เข้มแข็ง ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมของซีแอลเอ็มวีที และเชื่อมโยงกว้างออกไปสู่อาเซียนโดยรวมและอนุภูมิภาคอื่นๆ

          - การเชื่อมโยงไทยเข้ากับ One Belt One Road ของจีน ที่ต้องการสร้างทางรถไฟไปถึงมาเลเซีย และขยายความร่วมมือไปยุโรป แอฟริกา การที่สหรัฐละทิ้งการเป็นผู้นำโลก ทำให้จีนขยับจากภูมิภาค สู่ระดับโลก สิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าเราเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่เราปฏิเสธกระแสนี้ไม่ได้ ทั้งนี้ ต้องเชื่อมต่อเข้าสู่อีอีซีด้วยเส้นทางรถไฟเข้ากับเส้นทางรถไฟไทย-จีนที่จะเชื่อมจากจีนสู่เวียงจันทน์ผ่านไทยไปยังมาเลเซีย จะทำให้การเชื่อมโยงทั้งทางบกและทางทะเลเป็นจริง

          - การร่วมผลักดันและเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีใหม่ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาเซฟ ซึ่งไทยมีข้อตกลงเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศเหล่านี้โดยส่วนใหญ่อยู่แล้ว

          8. ยกเครื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใสภาครัฐ ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายความความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ด้วยการลดขั้นตอน การขจัดอุปสรรค การแก้และออกกฎหมายใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การเริ่มโครงการอีเพย์เมนต์ภาครัฐของกระทรวงการคลัง ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการบริการ อีกทั้งยังช่วยขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น

          ยุทธศาสตร์นำพาไทยสู่ยุค 4.0 รัฐบาลนี้มีความเชื่อมั่นว่า ก้าวย่างเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ

          แต่คำถามสำคัญที่จะตามมาคือ จะสานต่ออย่างต่อเนื่องได้อย่างไร

          คำตอบคือ เป็นหน้าที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกรัฐบาลจากนี้ไปจะต้องสานต่อการปฏิรูปประเทศและสานต่อยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งจะถูกกำกับด้วยคณะกรรมการ 2 คณะ อันได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าประเทศไทยจะต้องเดินตามก้าวย่างยุทธศาสตร์และต้องมีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง

          ถึงแม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่ใช่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นรัฐบาลที่เกิดจากความจำเป็นของสถานการณ์ ที่ต้องการจะนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากภาวะที่ สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นรัฐที่ล้มเหลวในอดีต และเป็นรัฐบาลที่พยายามใช้ช่วงเวลาที่ผ่านมามุ่งมั่นปฏิรูปและวางรากฐานของประเทศ เพื่อหนุนส่งให้ประชาธิปไตยที่หากเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะสามารถนำพาประเทศสู่ความรุ่งเรืองได้ในอนาคต

          เราเชื่อมั่นว่า ด้วยจังหวะก้าวย่างเชิงยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง ทันเวลา และด้วยความร่วมมือกับมิตรประเทศและนักลงทุนจากนานาประเทศ ไทยจะสามารถสร้างโอกาสให้กับประเทศในยุคที่บทบาทของเอเชียกำลังทะยานอย่างยาก ที่จะหยุดยั้งได้อีกแล้ว

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน