โคราชเชียร์รถไฟฟ้ารางเบา พัฒนาขนส่งสาธารณะ-เทศบาลชี้บีอาร์ทีเหมาะสมกว่า
Loading

โคราชเชียร์รถไฟฟ้ารางเบา พัฒนาขนส่งสาธารณะ-เทศบาลชี้บีอาร์ทีเหมาะสมกว่า

วันที่ : 29 มิถุนายน 2560
โคราชเชียร์รถไฟฟ้ารางเบา พัฒนาขนส่งสาธารณะ-เทศบาลชี้บีอาร์ทีเหมาะสมกว่า

ภาคเอกชนและภาคประชาชนเมืองย่าโมขานรับรถไฟฟ้ารางเบา (แอลอาร์ที) แนะให้เริ่มต้นในเส้นทางที่มีปัญหาการติดขัดจราจรก่อน ด้านนายกเล็กโคราชชี้ บีอาร์ที น่าตอบโจทย์ดีกว่า อยากให้นำรถมาทดลองเส้นทางก่อน เพื่อดูปัญหาก่อนสร้างจริง

รายงานข่าวจากคณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการ ศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการ มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับผลการศึกษาที่เลือกใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (แอลอาร์ที) หรือรถรางซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่ารถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที)  ซึ่งมี 3 เส้นทาง คือสายสีเขียวโคกกรวด-จอหอ สายสีส้มดูโฮม-วิ่งวนในเมืองชั้นใน และสายสีม่วงเซฟวัน-จอหอ คาด ว่าจะใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1.5 หมื่นล้านบาทน ทั้งนี้ทาง โครงการจะมีการจัดประชุมสัมมนาครั้งสุดท้ายเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน จ.นครราชสีมา ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นจะสรุปผลการศึกษาโครงการฉบับสมบูรณ์ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เดือนสิงหาคม เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมเดือน กันยายน-ตุลาคมต่อไป

นายไพจิตร  มานะศิลป์ รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยว  กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า หอการค้าเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนให้เกิดระบบการขนส่ง มวลชนที่ทันสมัยในจังหวัดนครราชสีมาโดยเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ทั้งเมกะโปรเจ็กต์ที่จะเข้ามาในจังหวัดนครราชสีมาที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ เช่น รถไฟทางคู่  มอเตอร์เวย์ และ รถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลเร่งรัดโดยใช้ ม.44  ฉะนั้นระบบการขนส่งมวลชนในเขตเมืองนคร ราชสีมาได้เร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด  และหากล่าช้า หรือโต้แย้งก็จะทำให้จังหวัดนครราชสีมาเสียโอกาสเหมือนเช่น อุโมงค์ทางลอดที่เราเคยได้งบประมาณมากแต่มีการคัดค้านงบก็ตกไปยังจังหวัดอื่นที่เขามีความพร้อมเหมือนนครราชสีมาอยู่แล้ว

"โดยส่วนตัวเห็นว่าสายสีเขียวควรถูกหยิบขึ้นมาทำก่อน คือ เส้นทางโคกกรวด-จอหอ ถ.มิตรภาพ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะแก้ไขปัญหารถติดได้ดีที่สุดในเวลานี้ เพราะเส้นทางดังกล่าวผ่านสถานศึกษามากกว่า 4 แห่ง มหาวิทยาลัย 2 แห่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ด้านการจราจรทั้งสิ้น หากดำเนินการได้ก่อนก็จะช่วยคลี่คลายปัญหาด้านการจราจรลงไปได้  และรถไฟฟ้ารางเบาที่นำมาวิ่งเป็นรถสมัยใหม่ไม่ต้องใช้สายไฟฟ้าโยงอยู่ด้านบนแต่อย่างใด"

ด้านนายจักริน เชิดฉาย ในฐานะผู้แทนภาคประชาชนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า  ภาคประชาชนจังหวัดนครราชสีมาผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยที่ตัวเองเป็นประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาก็ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยและขับเคลื่อนตลอด เพราะเราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้มีระบบขนส่งมวลชนเกิดขึ้นในจังหวัดนครราช สีมา โดยเฉพาะรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งการออกแบบที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้นำเสนอมานั้น  เป็นรถไฟฟ้ารางเบารูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องมีสายไฟฟ้าโยงอยู่ด้านบน ทำให้เสียทัศนยภาพของเมือง และรางก็สามารถใช้กับเส้นทางรถยนต์ได้เลย ไม่ต้องสร้างลอยฟ้าซึ่งเป็นรูปแบบที่ล้าสมัยและยังทำให้เสียทัศนียภาพของเมืองอีกด้วย ในต่างประเทศเขามีใช้กันมานานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งสามารถตอบโจทย์คนเมืองได้เป็นอย่างดี

"อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่เป็นห่วงเรื่องเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาทนั้น ตนอยากให้โฟกัสไปที่เรื่องการพัฒนาเมืองจะดีกว่า อย่ามองเรื่องการขาดทุนหรือกำไร เพราะประชาชนได้ประโยชน์หลายอย่าง บ้านเมืองมีการพัฒนา และเราใช้รถไฟฟ้ารางเบาที่ทันสมัยก็ต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่าคุ้มค่ากับการลงทุนแน่นอน"

ด้านนายสุรวุฒิ  เชิดชัย นายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครราชสีมา ให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้เทศบาล ได้จ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีศึกษารูปแบบการขนส่งมวลชนไว้นานแล้ว โดยจากการศึกษาเห็นว่า ระบบการขนส่ง ด้วยรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที  มีความเหมาะสมมากที่สุด และเส้นทางที่ออกแบบไว้ก็ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่จอดรถ เพราะเป็นสถานีลอยฟ้า ไม่กระทบกับรถยนต์ที่ใช้สัญจรไปมา

"อย่างไรก็ตาม เทศบาล ก็ไม่ได้คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ สนข.ทำ แต่อยากให้เมื่อมีการสรุปเส้นทางทั้ง 3 ระยะ และรูปแบบของรถไฟฟ้ารางเบาแล้ว ก็อยากให้มาทดสอบเส้นทางตามที่ระบุในการศึกษาก่อนที่จะลงมือทำ เพื่อจะได้ทราบปัญหาต่างๆ เมื่อมีการก่อสร้างและเปิดใช้งานจริง โดยนำรถชนิดใดมาวิ่งดูก่อนใน 3 เส้นทางดังกล่าว แล้วค่อยมาคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใด"

"เส้นทางโคกกรวด-จอหอ น่าจะแก้รถติดได้ดีที่สุดเพราะวิ่งผ่านสถานศึกษามากกว่า4แห่ง มหาวิทยาลัย2 แห่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ