ทช.ทุ่ม4.5พันล.เร่งพัฒนาถนนเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ-อีอีซี
Loading

ทช.ทุ่ม4.5พันล.เร่งพัฒนาถนนเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ-อีอีซี

วันที่ : 3 กรกฎาคม 2560
ทช.ทุ่ม4.5พันล.เร่งพัฒนาถนนเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ-อีอีซี

ทช.ตั้งงบลงทุนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี 4,500 ล้าน เร่งลงนามภายใน ธ.ค.ปีนี้

นายผดุงศักดิ์ สรุจิกำจรวัฒนะ ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า งบประมาณปี 2561 ของกรมทางหลวงชนบท ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยงบประมาณรวมอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วน 15% หรือราว 4,500 ล้านบาท จะเป็นการพัฒนาเส้นทางในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ทั้งนี้ การพัฒนาในพื้นที่อีอีซีจะใช้งบ 2,500 ล้านบาท ขยายถนน 4 ช่องจราจร และก่อสร้างถนนสายใหม่เชื่อมนิคมอุตสาหกรรม อาทิ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอมตะซิตี้ และฝั่งอีสเทิร์นซีบอร์ด ส่วนด้านงบพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท ทั้งการก่อสร้างถนนและจัดรูปแบบผังเมืองส่งเสริมการค้าในพื้นที่

"รัฐบาลเน้นนโยบายการพัฒนาในพื้นที่เป้าหมายอย่างอีอีซี และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงมากขึ้น ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าในระยะยาว" นายผดุงศักดิ์ กล่าว

สำหรับงบประมาณโดยรวม 4.7 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน ที่ได้รับอนุมัติ 4.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมบำรุงถนนทั่วประเทศ 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 38% ลดลง 18% จากปีก่อนที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ส่วนงบประมาณลงทุนและบริหารงานรวมถึงงบผูกพันอีกราว 2.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังขานรับนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาถนนทางหลวงชนบทเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ภายใต้งบบูรณา การของกลุ่มจังหวัดเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในปีนี้ อยู่ที่ 1,850 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเน้นพัฒนาถนนสนับสนุนการท่องเที่ยวในภาคใต้ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อเพิ่มตัวเลือกการเดินทางกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า กรมทางหลวงชนบทมีแผนจะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว สถานีริมทาง หรือ Road side station ขณะนี้กำลังศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนาและพื้นที่เป้าหมาย เบื้องต้นสนใจพัฒนาในเส้นทางถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตก สมุทรสงคราม-คลองโคน-บางตะบูน-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีบางจุดเป็นพื้นที่สาธารณะ

ทั้งนี้ รูปแบบจะพัฒนาเป็นพื้นที่จอดรถ มีร้านค้าปลีกและส่งเสริมการขายสินค้าโอท็อปรวมถึงสินค้าเอสเอ็มอีท้องถิ่นตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างห้องน้ำอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังติดปัญหา เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ของ ทช.นั้น ระบุห้ามการเวนคืนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ต้องใช้พื้นที่สาธารณะหรือให้ชาวบ้านบริจาคพื้นที่ ซึ่งค่อนข้างยาก

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงชนบทตั้งเป้าหมายเริ่มจัดซื้อจัดจ้างในเดือน ก.ย. 2560 และเร่งลงนามสัญญาทั้งหมดภายในเดือน ธ.ค. ตามกรอบเวลาของรัฐบาลที่ต้องการให้ลงทุนให้ได้ 15% ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ