อีอีซี ดันยอดขายพื้นที่ นิคมฯ9เดือนทะลุ2พันไร่
Loading

อีอีซี ดันยอดขายพื้นที่ นิคมฯ9เดือนทะลุ2พันไร่

วันที่ : 31 กรกฎาคม 2560
อีอีซี ดันยอดขายพื้นที่ นิคมฯ9เดือนทะลุ2พันไร่

กนอ. เผยยอดขายพื้นที่นิคมฯ 9 เดือน ปีงบฯ 2560 ทะลุ 2.1 พันไร่ เพิ่มขึ้น 1.2%มั่นใจทั้งปีถึงเป้า 3 พันไร่ พร้อมกันพื้นที่นิคมฯละ 20-30 ไร่ ตั้งโรงงานสำเร็จรูปรองรับเอสเอ็มอี เตรียมดัน 5 นิคม อีอีซี เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ กนอ. ในรอบ 9 เดือน (ต.ค.59-มิ.ย.60) ว่า ในรอบ 9 เดือน มียอดขายและเช่าที่ดินของนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 2,156.40 ไร่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.2% รวมมูลค่าการลงทุน 102,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 47.2%

โดยยอดขายและเช่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รวม 1,956.33 ไร่ หรือมีสัดส่วนเป็น 90%ของยอดขายทั้งหมด ทำให้มั่นใจว่ายอดขายและเช่าที่ดินในพื้นที่นิคมฯปีงบประมาณ 2560 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อยู่ที่ 3,000 ไร่

ทั้งนี้ นโยบายการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ของรัฐบาล นับเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการดึงดูดการลงทุน ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวยังมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ

โดยในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ ปี 2560 คาดว่าการลงทุนจะเข้ามาอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการส่งออกที่มีการขยายตัว ซึ่ง กนอ.ได้เตรียมรองรับการลงทุนพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่อีอีซี นิคมฯ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (เอสอีแซท)และนิคมฯยางพารา ที่เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล ในการพัฒนาลงทุนไปทุกภูมิภาค เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นและไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นายวีรพงศ์ กล่าวว่า ยังมีนิคมฯเอกชนที่ยื่นขอเข้าเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ต่อคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) 5 แห่ง ได้แก่ นิคมฯโรจนะ นิคมฯอมตะ นิคมฯเหมราช นิคมฯซีพี และนิคมฯปิ่นทอง ซึ่งการที่นิคมฯเหล่านี้จะยกระดับขึ้นมาเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ จะต้องมุ่งเน้นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

ส่วนการจัดสรรพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศนั้น ขณะนี้นิคมฯขนาดใหญ่ของเอกชนต่างก็ได้จัดสรรพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว ในส่วนของ กนอ. ที่บริหารนิคมฯ 8 แห่ง จะเพิ่มพื้นที่ส่งเสริมเอสเอ็มอีเฉลี่ยแห่งละ 20-30 ไร่ ในการสร้างโรงงานสำเร็จรูปรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งจะมีพื้นที่โคเวิร์คกิ้งสเปซที่ประกอบด้วยพื้นที่ และอุปกรณ์ในการทดสอบ การผลิตสินค้าต้นแบบ และการให้ความรู้เอสเอ็มอีในทุกด้าน

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ