ปั้นศูนย์ค้าปลีก เอกชนทุ่ม9หมื่นล.ลงทุนเขตเศรษฐกิจฯแม่สอด
Loading

ปั้นศูนย์ค้าปลีก เอกชนทุ่ม9หมื่นล.ลงทุนเขตเศรษฐกิจฯแม่สอด

วันที่ : 4 กันยายน 2560
ปั้นศูนย์ค้าปลีก เอกชนทุ่ม9หมื่นล.ลงทุนเขตเศรษฐกิจฯแม่สอด

พาณิชย์ตั้งคณะทำงานหนุนทำศูนย์ค้าปลีก-ส่งใหญ่สุดในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด คาดมีเม็ดเงินลงทุน 9 หมื่นล้าน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าธุรกิจบริการและการลงทุนในต่างประเทศ (D4) ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาการค้าเมืองชายแดนแม่สอด โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดให้เป็นศูนย์ค้าปลีก-ส่งที่ใหญ่สุดระหว่างไทยและ เมียนมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดการค้าของทั้งสองฝ่ายให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น

"คณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะเร่งประชุมติดตามและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้การพัฒนาศูนย์ค้าปลีก-ส่งเกิดขึ้นโดยเร็ว เช่น การแก้ไขปัญหาการผ่านแดนทั้งขาเข้าและขาออก การสร้างศูนย์กระจายสินค้า การปรับไขกฎระเบียบด้านการส่งเสริมกิจการค้าปลีก-ส่ง การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศจากเดิมที่มีการบินระหว่างกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง จะเพิ่มเที่ยวบินแม่สอด-ย่างกุ้ง เป็นต้น" นางอภิรดี กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนสร้างศูนย์ค้าปลีก-ส่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จะช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งธุรกิจค้าปลีก-ส่ง ธุรกิจต่อเนื่อง เช่น โลจิสติกส์ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ทำการค้า โดยประเมินว่าน่าจะมีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านบาท และยังจะช่วยเพิ่มยอดการค้าระหว่างไทยและเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะมีการส่งออกและนำเข้า (การค้ารวม) ถึง 3 แสนล้านบาท ภายในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 380% จากปี 2559 และช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด มีมูลค่า 1.74 แสนล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว 1.7 แสนบาท

นางอภิรดี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันแม่สอดโมเดลในด้านการพัฒนาศูนย์การค้าปลีก-ส่ง ไปใช้กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในซีแอลเอ็มวีด้วย ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยจุดอื่นที่คาดว่าจะผลักดันในระยะแรกนอกจากที่แม่สอด จ.ตาก แล้ว จะมีที่ จ.มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และ จ.สงขลา ส่วนระยะที่ 2 จะผลักดันที่ จ.เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และ จ.นราธิวาส ต่อไป

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดแผนงานเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพื่อรองรับการพัฒนาศูนย์ค้าปลีก-ส่ง ได้แก่ การผ่านแดนทั้งขาเข้าและขาออก จะมีการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมการผ่านแดน ขยายเวลาผ่านแดน และการทำ Visa on arrival ด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ จะเร่งประสานการเดินรถโดยสารระหว่างประเทศ เพิ่มสายการบิน การให้รถบรรทุกวิ่ง การประกันภัยรถบรรทุก การสร้างศูนย์กระจายสินค้าและห้องเย็น ส่วน กฎระเบียบการค้าและภาษี จะส่งเสริมการลงทุนสร้างศูนย์การค้า ส่งเสริมกิจการค้าปลีก-ส่ง การจัดตั้งฟรีโซนและดิวตี้ฟรี การคืนแวต (VAT) การตั้งศูนย์วันสต็อป เซอร์วิส และการเพิ่มเพดานมูลค่าสินค้ายกเว้นอากร เป็นต้น

สำหรับคณะทำงานโครงการพัฒนาการค้าเมืองชายแดนแม่สอด ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐ ได้แก่ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมธนารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน อธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สมาคมประกันวินาศภัย บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ส่วนภาคเอกชน ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สหพัฒน์ อินเตอร์โฮลดิ้ง ไทยเบฟเวอเรจ ธนาคาร กสิกรไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ