ตลาด รับสร้างบ้าน1.4หมื่นล.เดือดดัมป์ราคา30%ชิงลูกค้า-9เดือนฟื้นตัวต่ำ
Loading

ตลาด รับสร้างบ้าน1.4หมื่นล.เดือดดัมป์ราคา30%ชิงลูกค้า-9เดือนฟื้นตัวต่ำ

วันที่ : 13 ตุลาคม 2560
ตลาด รับสร้างบ้าน1.4หมื่นล.เดือดดัมป์ราคา30%ชิงลูกค้า-9เดือนฟื้นตัวต่ำ

"THBA" เผยมูลค่าบ้านสร้างเองทั่วประเทศ 1.2-1.3 แสนล้านบาท คาดรับสร้างบ้านแชร์ตลาดอยู่ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ชี้ไตรมาส 2-3 ตลาดรับสร้างบ้านปรับตัวดีขึ้น ทั้งปริมาณและมูลค่า ไม่ฟันธงไตรมาส 4 ตลาดฟื้นตัว ระบุการแข่งขั้นยังสูงหลังพบ รายใหญ่รายเล็กโหมแคมเปญลดราคา 10-30% สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน  แจงตลาดกทม-ปริมณฑลผู้ประกอบการทำการตลาดและแข่งขันกว่า 100 ราย เน้นเจาะ3 กลุ่มหลัก 1. กลุ่มราคาบ้าน 2-10 ล้านบาท 2.กลุ่มราคาบ้านราคา 10-20 ล้านบาท และ 3.กลุ่มราคาบ้าน 20 ล้านบาท ขึ้นไป

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2-3 ที่ผ่านมากำลังซื้อและความต้องการในตลาดบ้านสร้างเองปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านขยายตัวทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า ทั้งนี้ ประมาณการว่าปีนี้

ปริมาณบ้านเดี่ยวสร้างเองทั่วประเทศ นี้มีจำนวน 60,000 หน่วยเศษ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 120,000-130,000 ล้านบาท แบ่งเป็นปลูกสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 20,000 หน่วยเศษ คิดเป็นมูลค่า 45,000-50,000 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 2.2-2.5 ล้านบาท) และปลูกสร้างในต่างจังหวัด จำนวน 40,000 หน่วยเศษ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 75,000-80,000 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 1.8-2 ล้านบาท) ในขณะที่ธุรกิจรับสร้างบ้านมีมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 8,000 ล้านบาทและต่างจังหวัด 6,000 ล้านบาท โดยเหตุที่ธุรกิจรับสร้างบ้านมีส่วนแบ่งตลาดต่างจังหวัดน้อยกว่า เป็นเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้บริการกับผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป

ทั้งนี้การขยายตัวของตลาด 9 เดือนที่ผ่านมา ถือว่ายังไม่น่าพอใจเพราะฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดตลาดฟื้นตัวค่อนข้างช้า แต่ยังดีที่ไตรมาส 3 กำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น และถือเป็นสัญญาณที่บวก ต่อ การขยายตัวของตลาดในไตรมาส 4 อย่างไร ก็ตาม บรรยากาศและความรู้สึกของผู้บริโภคและประชาชนในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ อาจไม่เอื้อต่อการใช้จ่ายเงินจำนวนมากๆ ซึ่งคงต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้งในช่วงเดือนสุดท้ายของปี

ส่วนภาพรวมการแข่งขันไตรมาส 3 พบ ว่า ตลาดมีการแข่งขันราคากันค่อนข้างรุนแรง ประเมินได้จากการโหมกันจัดโปรโมชันลดราคาบ้าน 10-30% ของบรรดาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็ก สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์การขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจผู้ประกอบการ ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจการต่อรองสูง ในขณะที่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายเล็กและรายใหม่ เน้นกลยุทธ์ตัดราคา เพราะไม่อาจแข่งขันในเรื่องของประสบการณ์ ผลงานและความน่าเชื่อถือ โดยมุ่งเจาะตลาดบ้านขนาดเล็กราคา 1-2 ล้านบาทในต่างจังหวัด โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะเลือกใช้สื่อโฆษณาออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย เพื่อสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหลัก ปัจจุบันกลุ่มนี้เข้ามาแข่งขันในตลาดจำนวนมาก จนผู้บริโภคเองเริ่มสับสนเพราะว่าแทบไม่แตกต่างกับผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป

นายสิทธิพร กล่าวว่า ปีนี้ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจรับสร้างบ้าน พบว่ามีการแข่งขันราคากันดุเดือดพอสมควร โดยเฉพาะตลาด ต่างจังหวัดในกลุ่มราคาบ้าน 1-2 ล้านบาท ซึ่ง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ ขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 8,000ล้านบาท พบว่ามีผู้ประกอบการทำการตลาดและแข่งขันกันอยู่เกือบ 100 ราย โดยเน้นเจาะตลาดราคาบ้าน 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. กลุ่มราคาบ้าน 2-10 ล้านบาท 2.กลุ่มราคาบ้านราคา 10-20 ล้านบาท และ 3.กลุ่มราคาบ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้พบว่ากลุ่มราคาบ้าน 2-10 ล้านบาท มีจำนวนผู้ประกอบการร่วมแข่งขันชิงแชร์ส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มนี้มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มราคาบ้านต่ำกว่า 2 ล้านบาท มีการแข่งขันต่ำสุดในกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้าน ตลาดกลุ่มนี้จึงตกอยู่กับผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป

สำหรับกลุ่มราคาบ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป แม้ว่าจะมีปริมาณและความต้องการปลูกสร้างบ้านต่อปีเพียงไม่กี่หน่วย แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่อยู่มานาน และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคจำนวนมากกว่า 10 ราย ต่างหันมารุกเจาะตลาดกันมากขึ้นในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา เหตุผลหลักๆ ก็เพราะต้องการจะหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคากับกลุ่มแรก นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่อย่าง SCG ที่แตกไลน์มาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยีการก่อสร้างทันสมัย และกระโจนเข้าร่วมแข่งขันชิงแชร์ราคาบ้านระดับบนกลุ่มนี้ด้วย จะเห็นได้ว่าทุกเซกเมนต์ ของตลาดรับสร้างบ้าน ไม่อาจหนีพ้นการแข่งขันที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะการแข่งขันตัดราคาหรือสงครามราคา

"หนทางที่ผู้ประกอบการจะหลีกเลี่ยงสงคราม ราคาที่ดีที่สุดคือ การสร้างจุดเด่นหรือจุดแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งจุดยืนองค์กรให้มีความชัดเจน และควรเลือกว่าจะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใด มิควรทำการตลาดและแข่งขันแบบครอบคลุมทุกตลาด เพราะในระยะยาวจะเสียเปรียบคู่แข่งที่มีความชัดเจน"

 
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา