ชงปรับเกณฑ์จัดสรร เสนอลดขนาดแปลงที่ดินในพื้นที่สีส้มย.5-ย.7ผุดบ้านแนวราบ
Loading

ชงปรับเกณฑ์จัดสรร เสนอลดขนาดแปลงที่ดินในพื้นที่สีส้มย.5-ย.7ผุดบ้านแนวราบ

วันที่ : 10 พฤศจิกายน 2560
ชงปรับเกณฑ์จัดสรร เสนอลดขนาดแปลงที่ดินในพื้นที่สีส้มย.5-ย.7ผุดบ้านแนวราบ

เปิดกรอบพัฒนาที่อยู่อาศัย ตามผังเมืองรวมฉบับใหม่ ชี้มาตรฐานเดียวจำกัดการพัฒนา

นายนพนันท์ ตาปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง เปิดเผยว่า ทางกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีการประชุมคณะทำงานร่วมพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยด้านที่อยู่อาศัยเพื่อนำไปปรับปรุงตามโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยบริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่สีส้ม (ย.5-ย.7) โดยกำหนดขนาดต่ำสุดของแปลงที่ดินใหม่เพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น และยังเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินหลากหลาย เนื่องจากเห็นว่าการใช้มาตรฐานเดียวเป็นข้อจำกัดใช้ที่ดินไม่คุ้มค่า

ทั้งนี้ เสนอให้ขนาดบ้านเดี่ยวต่ำสุด 40 ตารางวา (ตร.ว.) จากเดิม 50 ตร.ว. ส่วนบ้านแฝดปรับเป็น 30 ตร.ว. จากเดิม 35 ตร.ว. และบ้านแถวหรือตึกแถว ปรับเป็น 14 ตร.ว. จากเดิม 16 ตร.ว. โดยปัจจุบันสีส้มมีพื้นที่ถึง 20% ของพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดสามารถเพิ่มความหนาแน่นได้ ทั้งนี้จะต้องไปแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดการจัดสรร

นอกจากนี้ การเสนอให้เพิ่มระยะการส่งเสริมการพัฒนารัศมี 500 เมตร จากสถานีรถไฟฟ้าเป็นอย่างน้อย 1 กิโลเมตรนั้น มองว่าในอนาคตจะมีสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกมาก การขยายตามถนนจะกลายเป็นปัญหาเมืองและอาจโอเวอร์ซัพพลายในบางพื้นที่ ทั้งนี้ภาครัฐควรมีการขยายถนนตรอกซอยบริเวณรอบสถานีเพิ่มโอกาสในการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะแนวสูงและเป็นลักษณะมิกซ์ยูส

นายประสงค์ เอาฬาร คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผังเมืองที่ผ่านมากลายเป็นข้อจำกัดขณะที่ราคาที่ดินแพงขึ้น ทำให้ประชาชนมีบ้านได้ยากแม้แต่ทาวน์เฮาส์ 16 ตร.ว. ทั้งนี้นโยบายรัฐต้องการให้ประชาชนมีบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเห็นว่า กทม.มีพื้นที่กว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่สีเขียวทแยงสัดส่วน 1 ใน 3 รวมทั้งพื้นที่สีเหลืองอีกจำนวนมาก ควรมีการปรับเกณฑ์ให้สามารถสร้างทาวน์เฮาส์ได้เพื่อเพิ่มโอกาสและสอดคล้องกับรายได้ของประชากรแทนการผลักดันคนไปอยู่นอกเมือง

นายโชคชัย บรรลุทางธรรม อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การวางผังเมืองต้องการทำให้แหล่งงานและที่อยู่อาศัยใกล้กัน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งรถไฟฟ้าได้ทำให้เมืองขยายตัว แต่ผังใหม่กลับจะทำให้เมืองกระชับลง ซึ่งรถไฟฟ้าและสีของผังเมืองกลายเป็นตัวบีบให้ที่อยู่อาศัยแนวราบหายไปเพราะราคาที่ดินแพงและก่อสร้างไม่ได้ ทั้งนี้รัฐต้องเป็นผู้ชี้นำไม่ใช่เป็นตัวบีบและไม่ใช้ผังเมืองแก้ปัญหาจากปลายเหตุ เช่น รถติด กลับไปกำหนดความกว้างถนนที่ทำจัดสรร

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ