ชี้3ปัจจัยนำไทยผงาดโลก สมคิด ลุยปั้นเศรษฐกิจดิจิทัลดัน จีดีพี
Loading

ชี้3ปัจจัยนำไทยผงาดโลก สมคิด ลุยปั้นเศรษฐกิจดิจิทัลดัน จีดีพี

วันที่ : 30 มกราคม 2561
ชี้3ปัจจัยนำไทยผงาดโลก สมคิด ลุยปั้นเศรษฐกิจดิจิทัลดัน จีดีพี

"สมคิด" ชี้ประเทศไทยมี 3 ปัจจัยหลักที่โดดเด่น ดึงดูดนักลงทุนบ้านเมืองสงบเศรษฐกิจเติบโตและมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ลุยปั้นอีอีซีชูประเทศไทยให้โดดเด่น ควบคู่เดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลดันจีดีพี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในงานสัมมนาโครงะการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก "อีอีซีไม่มีไม่ได้" ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในสายตานักลงทุน ขณะนี้เนื่องจากบ้านเมืองมีความสงบเศรษฐกิจกำลังเติบโต จากที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)เติบโตได้ 0.8-0.9% ขณะนี้จีดีพีขยายตัวได้ 4% ถือว่าไม่ธรรมดาและการลงทุนจะสูงมาก ถ้าสามารถคงความมีเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศไว้ได้ เพราะนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนต้องการความสงบของบ้านเมืองและเศรษฐกิจขยายตัวแล้ว ก็ยังต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

"รัฐบาลคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไทยโดดเด่น จึงมีโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ขึ้นมา แต่มีปัจจัยถ่วงคือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเก่าแก่โบราณ เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีและโครงสร้างเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ปรับตัวจะมีความโดดเด่นได้อย่างไร โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่หยุดลงทุนขนาดใหญ่มากว่า 10 ปี รัฐบาลจึงได้รื้อฟื้นขึ้นมาขนานใหญ่ทั้งประเทศ"

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับการตัดสินใจลงทุนทั้งเรื่องรถไฟเครื่องบิน

ส่วนเรื่องดิจิทัลก็เป็นหัวใจที่สำคัญ เพราะสามารถเปลี่ยนทุกอย่างในการผลิตของทั้งโลก จากเดิมโมเดลการพัฒนาประเทศต้องมีเรื่องการส่งออกการลงทุนการท่องเที่ยวสมัยนี้ปรับเปลี่ยนเป็น ถ้าสร้างระบบเศรษฐกิจที่เน้นดิจิทัลและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ การขยายตัวของจีดีพีจะรุนแรงมาก

นายสมคิดกล่าวว่า จีนเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จนเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในขณะนี้ เมื่อมีดิจิทัลแล้วคนตัวเล็กสามารถสร้างธุรกิจเองและขยายธุรกิจออกไปได้ ขอให้มีความคิดสร้างสรรค์แล้วใช้แพลตฟอร์มผ่านดิจิทัล จากที่จีนเคยมีผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย ขณะนี้มีธุรกิจรายเล็กในประเทศเป็นล้านราย และมีความเชี่ยวชาญคล่องแคล่วมากและคนจีนชอบสร้างธุรกิจผ่านทางดิจิทัล เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมาไม่ใช่เรื่องการเน้นแรงงานราคาถูกเหมือนอดีต และถ้ากดค่าแรงต่อไปสังคมจะมีปัญหา

"ถ้าประเทศไทยไม่เริ่มปรับเปลี่ยนเรื่องดิจิทัล จะตกขอบโลกและช่องห่างในการพัฒนาจะยิ่งมากขึ้น คนที่ปรับไปสู่ดิจิทัลจะผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงมาก ประเทศที่ไม่ปรับเปลี่ยนจะตกไปเป็นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งรอเวลาไม่ได้เพราะเวลา 2-3 ปี จะรู้เลยว่าใครหมู่ใครจ่า วิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นกลายเป็นโอกาสที่จะให้รัฐบาลทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้ เป็นการลงทุนในระยะยาวเพื่ออนาคต ซึ่งการเมืองตามปกติทำได้ยาก"

ดังนั้น อีอีซีเป็นเบ้าหลอมที่จะสร้างจุดเปลี่ยนของโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างแรงดึงดูดนักลงทุนขึ้นมา ขณะนี้มีนักลงทุนยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีปีที่ผ่านมา 200,000 ล้านบาท

          "ประเทศไทยมีคนเก่ง เรื่องกระแนะกระแหนตอน พูดเรื่องประเทศไทย 4.0 ก็ถูกว่า 1.0 ยังไม่วิ่งเลยจะไป 4.0 ชอบทำให้กำลังใจคนอื่นลดน้อยลงแต่ไม่มีผลกับรัฐบาล เพราะการมาครั้งนี้จะต้องทำให้ได้เหลืออีก 1 ปี ก็จะทำงานไปจนถึงวันสุดท้าย จบเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่หน้าที่ของผมคือทำถึงวันสุดท้ายวันหนึ่งข้างหน้า จะรู้กันเองว่าอีอีซีจำเป็นต้องเกิด และถ้าไม่เกิดขึ้นความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะค่อยๆด้อยลงไป การลงทุนจะย้ายไปประเทศอื่น เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ทำให้การสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศเป็นไปได้ยาก และถ้าเชื่อมโยงดิจิทัลไม่ได้ การยกระดับสินค้าเกษตรก็ทำได้ยาก อนาคตประเทศไทยอยู่ในมือเราว่าจะเลือกแบบไหน"

"เรื่องการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไป ขณะนี้ยังไม่ได้ยินนักลงทุนสอบถามเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าไม่กระทบความเชื่อมั่นเนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญคือเรื่องความสงบของบ้านเมือง รัฐบาลมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจที่เติบโต".

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ