คณิศ เผยปีแรกอีอีซี ดึงเงินลงทุน 3 แสนล้าน ย้ำเป็นต้นแบบเปลี่ยนแปลงประเทศ
Loading

คณิศ เผยปีแรกอีอีซี ดึงเงินลงทุน 3 แสนล้าน ย้ำเป็นต้นแบบเปลี่ยนแปลงประเทศ

วันที่ : 2 กุมภาพันธ์ 2561
คณิศ เผยปีแรกอีอีซี ดึงเงินลงทุน 3 แสนล้าน ย้ำเป็นต้นแบบเปลี่ยนแปลงประเทศ

เลขาธิการ อีอีซี ย้ำรอไม่ได้ ช้าอีก 5 ปี โดนอินโดนีเซีย - เวียดนาม แย่งฐานลงทุนของอาเซียนแน่ เผยโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อนุมัติหมดแล้ว 1 ปีที่ผ่านมา ดึงเงินลงทุนได้ถึง 3 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเกือบ 50% ระบุอีอีซีจะเป็นต้นแบบเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและความคิดของคนในประเทศ

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวบรรยายในหัวข้อ "วันนี้ของ EEC และ เชื่อมโลกให้ไทยแล่นอย่างไร" ในงานสัมมนา "EEC ไม่มีไม่ได้" ในโอกาสครบรอบ 35 ปี "ผู้จัดการ" ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นสถานีหลักทางเศรษฐกิจของไทยในภูมิภาคอาเซียน

เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างการผลิต โครงสร้างการผลิตเดิมที่เป็นอุตสาหกรรมแรงงานอยู่ในเมืองไทยไม่ได้แล้ว เนื่องจากค่าแรงเพิ่มขึ้น คนน้อยลง และคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านจะกลับประเทศ เราต้องเปลี่ยนมาเป็นงานทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาคการผลิตรุนแรงมาก ถ้าเราตามไม่ทัน เราตกขบวนแน่

ถ้าประเทศไทยช้าเกิน 5 ปี เราตกขบวน ประเทศที่จะเข้ามาแทนคือ อินโดนีเซีย กับเวียดนาม ตัวเลขยืนยันแบบนั้น วันนี้เทคโนโลยีหลายอันการพัฒนาคนเมืองไทย ต่ำกว่า อินโดนีเซีย และต่ำกว่าเวียดนาม ถ้ายังปล่อยไปอีก 5 ปี ไม่ทันแน่ เราไม่มีทางเลือก จึงผลักดันพื้นที่ชายทะเลภาคตะวันออกขึ้นมาใหม่เพื่อจะเป็นสถานีหลักด้านเศรษฐกิจของไทยในพื้นที่อาเซียน

ดร.คณิศ สรุปว่า ในอีอีซีตอนนี้ มี 4 กลุ่มที่ต้องทำ กลุ่มแรกคือ โครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มที่ 2 คือเรื่องพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ กลุ่มที่ 3 การท่องเที่ยว กลุ่มที่ 4 การพัฒนาเมือง และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้มีสภาพที่ดีขึ้น ยกระดับขึ้น เป้าหมายคือให้พื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เข้าใกล้กรุงเทพฯ หรือเชื่อมกรุงเทพฯ เป็นชิ้นเดียวกัน

ตอนนี้ โครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ ทำไปแล้ว อนุมัติหมดแล้ว คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา การขยายท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบังเอารถไฟทางคู่เข้าไปเชื่อมท่าเรือ เพื่อจะขนของทางรางมากขึ้น ยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก

ตัวรถไฟความเร็วสูงอนุมัติแล้ว กำลังจะออกทีโออาร์ สนามบินก็อนุมัติแล้วกำลังจะออกทีโออาร์ ทำเป็นศูนย์การซ่อมบำรุง อากาศยานที่อู่ตะเภา เป็นการลงทุนระหว่าง TG กับแอร์บัส เป็นศูนย์ซ่อมอัจฉริยะ

เลขาธิการ อีอีซี เปิดเผยอีกว่า ปี 2560 ที่ผ่านมาหลังจากเริ่มโครงการได้ 1 ปี แต่มีคนมาขอลงทุนในพื้นที่แล้วประมาณ 300,000 ล้าน เพิ่มขึ้นประมาณ 49% 84% เป็นการขอการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั้ง 10 อุตสาหกรรม เป็น 5 อุตสาหกรรมใหม่ 54% และเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม 30%

ดร.คณิศ กล่าวว่า การทำอีอีซีเป็นการผสมผสานพลังจากภายในและภายนอกประเทศ เช่น เส้นทางรถไฟไทย - จีน เป็นครั้งแรกที่เราจะเสียบปลั๊กเข้าเมืองจีนได้ นอกจากนี้ การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือเอาผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาเพื่อสอนให้เราเก่ง

อย่างไรก็ตาม เราจะให้อุตสาหกรรมไทยเป็นอุตสาหกรรมหลัก เบื้องหลังจริงๆ เราจะใช้บริษัทไทย กับใช้เงินไทยให้มากที่สุด ดันเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าให้ได้ เวลาประมูลจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับใช้บริษัทไทย ทำไมเราถึงใช้แต่เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว เพราะเราไม่ทำแข่งคนไทยด้วยกัน

อันหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอีอีซี คือ เราใช้อีอีซีเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และความคิดคนไทย ยกตัวอย่างเช่น ผังเมือง ทางกรมผังเมือง โยธาธิการผังเมืองเคยทำแต่ผังจังหวัด ตามเขตการปกครอง แต่วางหลายจังหวัดเชื่อมกันไม่เป็น ไม่เคยทำ จึงขอ ม.44 มาทำให้เป็น

อีกหน่อยระบบนี้จะไปใช้ที่จังหวัดอื่นได้ เรื่องเกี่ยวกับการลงทุนร่วมทุนกับภาครัฐ เอกชน เมื่อก่อนใช้เวลา 40 เดือน ภายในอีอีซีตอนนี้ทำเหลือ 8 เดือน หลังจากทำตรงนี้เสร็จ จะทำเปลี่ยน พ.ร.บ. ของกระทรวงการคลังอีก โดยใช้อีอีซีเป็นฐาน

สุดท้ายเรื่องคน การจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงาน กระขบวนการนี้มันบิดเบือนไปนาน เราจะใช้กระขบวนการอีอีซี เข้าไปจัดการ เพราะฉะนั้น อีอีซีจึงทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือการย่อยระบบพวกนี้และสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อจะให้พื้นที่อื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยเอาไปใช้งานได้

ดร.คณิศ กล่าวย้ำว่า พ.ร.บ. อีอีซี จำเป็นจะต้องมี เพราะอีสเทิร์นซีบอร์ดเคยมีแล้วมันหายไป ถ้ามี พ.ร.บ. อาจอยู่ต่อ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการอยู่ต่อไม่ใช่เฉพาะการมี พ.ร.บ. ต้องมีความต้องการด้วย เมื่อมีกฎหมายแล้วจึงขอให้ช่วยกันสนับสนุนอีอีซี ในฐานะที่จะเป็นศูนย์รวมการสร้างการลงทุน ศูนย์รวมการสะสมเทคโนโลยีเพื่อเยาวชนไทยในอนาคต

 
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ