เร่งรถไฟเร็วสูงเชื่อม3สนามบินเล็งต่อระยะ2 ระยอง-ตราด
Loading

เร่งรถไฟเร็วสูงเชื่อม3สนามบินเล็งต่อระยะ2 ระยอง-ตราด

วันที่ : 25 พฤษภาคม 2561
เร่งรถไฟเร็วสูงเชื่อม3สนามบินเล็งต่อระยะ2 ระยอง-ตราด

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก(สกพอ.) ได้เปิดเผยถึง ขั้นตอนการดำเนินการของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยจะประกาศ เชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพ โดยในวันที่ 30 พ.ค.นี้ จะประกาศเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจประมูล โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการคัดเลือกผู้ลงทุนให้ได้ ภายในเดือนธ.ค.2561

โดยโครงการนี้ครอบคลุมเส้นทาง รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมืองสนามบินอู่ตะเภาโดยแบ่งเป็น 3 ช่วงรวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร(กม.) ได้แก่  1. รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม. 2. รถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงค์พญาไท-สนามบิน สุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม.

3. รถไฟความเร็วสูงจาก สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. 4. พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการ ผู้โดยสาร ได้แก่ สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง และสถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและโรงซ่อมหัวรถจักรของรฟท.

กรอบการร่วมลงทุนในครั้งนี้ได้มีการนำเอาข้อเสนอและความคิดเห็นที่ได้รับ จากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาพิจารณา อย่างจริงจัง เพื่อให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนบนหลักการเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขัน ของภาคเอกชน (International Bidding) เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ โดยจะดำเนิน โครงการภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบาย เรื่องการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือ PPP EEC  Track ด้วยการออกแบบกระบวนการให้รวดเร็ว และกระชับในรูปแบบ พีพีพี อีอีซี แทรค จะทำให้การเดินหน้าของโครงการรวดเร็ว  สอดรับไปกับการพัฒนาของเขตพิเศษภาคตะวันออก สำหรับสถานีที่รถไฟจะวิ่งผ่านนั้น นอกเหนือไปจากเป็นการพัฒนา โครงข่ายคมนาคมสำหรับประชาชน แล้ว ยังเป็น ส่วนหนึ่งที่รองรับการพัฒนาและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัดอีกด้วย

ทั้งนี้ การพัฒนา EEC เป็นการสร้างพื้นที่ ต่อขยายของเมืองให้กับกรุงเทพฯ รถไฟความเร็วสูงเส้นนี้มีความสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน จะเป็นการยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ให้ทำงานควบคู่กับสนามบินดอนเมือง และสนามบิน สุวรรณภูมิ ที่มีผู้โดยสารเกินความจุแล้ว 17 ล้านคนต่อปี และด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม.

สนามบินอู่ตะเภาสามารถเชื่อมกับกรุงเทพฯ ได้ใน 45 นาที เทียบกับปัจจุบันใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งผู้โดยสารสามารถลงเครื่องบินที่สนามบิน อู่ตะเภา แล้วขึ้นรถไฟความเร็วสูงเข้ากรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ใช้เวลาใกล้เคียงกับสนามบินนาริตะเข้ากรุงโตเกียว

2. รถไฟความเร็วสูง เป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยจะมีสถานีรถไฟ 5 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนาบริเวณสถานี ให้เป็นพื้นที่พัฒนาเชื่อมโยงกับชุมชนชนเก่าแล้ว ประชาชนตลอดเส้นทาง สามารถมาใช้บริการ โดยนำรถยนต์ไปจอดที่สถานีเหล่านี้ได้ ทำให้ ประหยัดเวลาการเดินทางมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้รถติดมาก และประเทศได้ประโยชน์จากการลดการใช้น้ำมันและลดความแออัดบนถนน

3. รถไฟความเร็วสูง ที่ความเร็ว 250 กม./ชม. นี้ ในอนาคตอันใกล้จะขยายไปสู่ระยะที่ 2 พัฒนาให้เชื่อมโยงจาก จ.ระยอง ไปสู่จันทบุรี และตราด ขณะนี้ กำลังดำเนินการศึกษา โดยคาดว่าใช้เวลา เดินทางจาก กรุงเทพฯ-ระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ-จันทบุรี 100 นาที และกรุงเทพฯ-ตราด 120 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลา ที่เหมาะสม และจะทำให้คนส่วนใหญ่หันมา ใช้การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง แทนการเดินทางโดยรถยนต์ นอกจากนั้นเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง มีการพัฒนาความเร็วมากขึ้นเป็น 300-350 กม./ช.ม. ในต้นทุนที่ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ยังช่วยแก้ปัญหาการขาดทุน ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ที่ปัจจุบันขาดทุนสะสม 1,785 ล้านบาท โดยปี 2560 ขาดทุนประมาณ 280 ล้านบาท และเป็นหนี้จากการก่อสร้างกว่า 33,000 ล้านบาท เมื่อต้องทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงนำโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์มารวมและแก้ปัญหาการขาดทุนทีเดียว  ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะต้องซื้อกิจการในมูลค่าที่เหมาะสม และการรถไฟจะสามารถนำไปลดหนี้ได้ ในปัจจุบันของแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ประสบปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร เนื่องจากมีขบวนรถน้อย จึงต้องวิ่งในเวลา ที่ห่างกัน ทั้งๆ เวลาของรางมีพอ และเมื่อ ขาดทุนจึงทำให้สถานการณ์ การเงินไม่ดี และไม่สามารถลงทุนเพิ่มขบวนรถได้

ในส่วนของการกำกับดูแลในระยะยาว จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโครงการ และค่าโดยสาร ซึ่งคณะกรรมการกำกับ ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐิจพิเศษภาคตะวันออก ผู้แทนสำนักงาน อัยการสูงสุด ผู้แทนเอกชนคู่สัญญาและผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ