ดันลงทุน อีอีซี ปีละ3แสนล้าน
Loading

ดันลงทุน อีอีซี ปีละ3แสนล้าน

วันที่ : 8 มิถุนายน 2561
ดันลงทุน อีอีซี ปีละ3แสนล้าน

"อีอีซี" สร้างเม็ดเงินลงทุน ปีละ 3 แสนล้านบาท ดันจีดีพีปีละ 2% ต่อเนื่อง 5 ปี "คณิศ" ชี้ช่วยดันประเทศพ้น นิว นอมอล "สมคิด" ชี้อี่อีซีสร้างระบบ นิเวศสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ระบุมิตซูบิชิ เตรียมประกาศลงทุนรถไฟฟ้า ด้านดับเบิลยูเอชเอ ระบุนักลงทุนต่างชาติสนใจดูพื้นที่นิคมฯกลุ่มการบิน- ยานยนต์สนใจสูงสุด

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (กพอ.)กล่าวว่าการลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งรัดการจัดทำร่างระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ในโครงการ สำคัญๆ และได้มีการออกทีโออาร์มาแล้ว หนึ่งโครงการคือโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา โดยโครงการทั้งหมดจะมีการคัดเลือกและประกาศผู้ลงทุนได้ภายในต้นปี 2562 ถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ของประเทศ

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปจะมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี ปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท เป็นระยะเวลา ต่อเนื่องกว่า 5 ปี ซึ่งการลงทุนปีละ 3 แสนล้านบาทนั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าปีละ 2% โดยยังไม่รวมกับการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องของภาคเอกชน เช่น การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะตามมาหลังจากการลงทุนของโครงสร้างพื้นฐาน และรถไฟความเร็วสูง เมืองใหม่และ เมืองอัจฉริยะในอีอีซี  การขยายตัวของเศรษฐกิจจากโครงการอีอีซีหมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ใกล้เคียงหรือมากกว่าเป้าหมายที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ปีละ 4-5% โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่เพิ่มขึ้น มาจากการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% และการลงทุนรวมเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3-4% ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือความสนใจ ที่มีต่อโครงการอีอีซีในช่วงหลังนักลงทุนจากยุโรปหลายประเทศให้ความสนใจ เข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซี "เศรษฐกิจไทยเคยถูกภาพจำกัดในเรื่อง ของ New normal คือขยายตัวได้ปีละประมาณ 3% ซึ่งหากสามารถเพิ่มการลงทุน

ในอีอีซีได้ก็จะมีการเติบโตจากส่วนนี้ประมาณปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท หรือ 2% ของจีดีพี ซึ่งก็หมายความว่าโครงการอีอีซี จะทำให้เศรษฐกิจไทยพ้นจากกรอบของ New normal ได้ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการลงทุน จากนั้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการลงทุนในอีอีซีก็จะเป็นการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะ ต่อไป" นายคณิศ กล่าว

สมคิดดันอีอีซีต้นแบบพื้นที่อื่น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าโครงการอีอีซีเป็นโครงการที่ต้องการสร้างการเติบโตของพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของไทยตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา โดยโครงการอีอีซีต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต อย่าง อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขั้นสูง อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นั้นไปได้แน่นอน อีกไม่นานบริษัทมิตซูบิชิ จากญี่ปุ่น จะประกาศการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย  "อีอีซีเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลทำให้เห็นว่าหากจัดระบบ ecosystem ที่เหมาะสม ให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ในประเทศไทยได้ ในระยะแรกอาจจะ เป็นการลงทุนของนักลงทุนจาก ต่างประเทศ เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังไม่เชี่ยวชาญ ซึ่งโมเดลการลงทุนของอีอีซีเมื่อทำสำเร็จก็จะขยายการลงทุนไปยังพื้นที่อื่นๆได้

ซึ่งถ้าไม่ตัดสินใจทำโครงการนี้ การลงทุนต่างๆ ก็จะย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ที่มีความพร้อมมากกว่า เช่น สิงคโปร์ อินโดนิเชีย หรือเวียดนาม ซึ่งต้องมีการสร้างความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการเกษตรเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน" นายสมคิดกล่าว

ชี้ไทยรักษาฐานผู้นำการลงทุน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่าโครงการอีอีซีทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำของฐานการผลิต อุตสาหกรรมในภูมิภาคได้ ซึ่งเมื่อมีการประกาศนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เห็นได้ชัดว่ามีความสนใจจาก นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมของ WHA ที่อยู่ในพื้นที่อีอีซีทั้ง 9 นิคมมากขึ้น และเป็นการติดต่อเข้ามาในรูปแบบหมู่คณะผ่านทางสถานทูต ในประเทศไทยและเดินทางมาดูความพร้อมในพื้นที่จริง

โดยกลุ่มของนักลงทุนที่เข้ามาดูพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ นักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน และอวกาศ (Aero space) นักลงทุน ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งยังสนใจที่จะมาขยายการลงทุนหรือลงทุนเพิ่ม ในโครงการใหม่

"โครงการอีอีซีทำให้พื้นที่อีสเทิร์น ซีบอร์ดกลับมาอยู่ในแผนที่การลงทุนของ นักลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พื้นที่นี้หายไปจากความสนใจของนักลงทุน ไปแล้ว ซึ่งต้องทำให้เกิดความสำเร็จภายใน 5 ปีไม่อย่างนั้นประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนามจะแซงหน้าเราอย่างแน่นอน" นางสาวจรีพร กล่าว

คาดการลงทุนปีหน้าเห็นภาพชัด

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การลงทุน ในพื้นที่อีอีซีหลังจาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2561 จะทำให้ความ เชื่อมั่นการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพราะที่ผ่านมานักลงทุนรอการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นฐานสำคัญ ในการผลักดันการลงทุนในอีอีซี และ จะทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัว เพิ่มขึ้น

นายวิบูลย์ กล่าวว่า ในปีนี้หลายฝ่ายประเมินว่าจีดีพีไทยจะขยายตัว 4-5% ในขณะที่บริษัทมองว่าในปี 2562 จะเห็นผลการลงทุนที่สะท้อนถึงเศรษฐกิจชัดเจน และการลงทุนที่มีมูลค่าสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอาจทำให้จีดีพีของประเทศ มีโอกาสขยายตัวได้ 8% เพราะการลงทุนในอีอีซีจะเกิดขึ้นถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี และเงินลงทุนจำนวนนี้จะมีการหมุนเวียนในเศรษฐกิจหลายครั้ง รวมทั้งเมื่อรวมการลงทุนของภาคเอกชนในธุรกิจอื่นๆ และ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) จะเกิดผลทางเศรษฐกิจมาก

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจไตรมาส 1 ปีนี้ ขยายตัวได้ 4.8% เป็นการเติมโตที่ ไม่ต้องมีการกระตุ้น แต่ต่อไปยอดการลงทุนจะมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อดูจากคำขอ ยื่นส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีหลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ