บอร์ดสั่งรฟม.ทบทวนแผนลงทุน สายสีส้ม(ตก)หวั่นเป็นภาระงบฯ
Loading

บอร์ดสั่งรฟม.ทบทวนแผนลงทุน สายสีส้ม(ตก)หวั่นเป็นภาระงบฯ

วันที่ : 25 มิถุนายน 2561
บอร์ดสั่งรฟม.ทบทวนแผนลงทุน สายสีส้ม(ตก)หวั่นเป็นภาระงบฯ

บอร์ด รฟม.สั่งทบทวนแผนลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก 8.5 หมื่นล้านบาท หวั่นหากให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% จะกระทบภาระงบประมาณ ขณะรฟม.คาดสรุปรายละเอียดเสร็จใน 2-3 สัปดาห์ พร้อมชงบอร์ดอีกครั้ง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า  ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เสนอผลการศึกษาการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 85,288.54 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,951 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 64,087.288 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 18,250.26 ล้านบาท พร้อมแผนการร่วมทุน (PPP) งานเดินรถสายสีส้มตลอดเส้นทางทั้งสีส้มตะวันออก และสีส้มตะวันตกให้บอร์ดพิจารณา

อย่างไรก็ตามบอร์ดได้มอบหมายให้ รฟม.กลับไปทบทวนรายละเอียดการลงทุนใหม่ โดยให้พิจารณาในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การเงิน การประเมินจำนวนผู้โดยสาร ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) โดยให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เนื่องจากขณะนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐทยอยเกิดขึ้นจำนวนมาก

ทั้งนี้ รฟม.ได้วิธีการลงทุนรถไฟฟ้าสายส้มตะวันตกในลักษณะเดียวกับการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง คือ ผู้รับงานรายเดียว จะได้รับทั้งงานโยธา ระบบ จัดหารถและเดินรถสายสีส้มทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งบอร์ดเห็นว่าแม้จะเป็นการให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% แต่ รฟม.ก็ต้องให้การอุดหนุนค่าก่อสร้าง โดยทยอยชำระให้เอกชนอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งจะเป็นการผูกพันการใช้งบประมาณ ขณะเดียวกันหาก รฟม.แยกการรับงานโยธาและงานเดินรถออกจากกัน คือ รฟม.เปิดประกวดราคาหาผู้รับงานโยธาแบบเช่นที่ผ่านมานั้น ก็ต้องไปพิจารณาการก่อหนี้สาธารณะให้รอบคอบ เพราะ รฟม.ต้องใช้วิธีกู้เงินมาก่อสร้าง

เราจะเร่งไปทบทวนรายละเอียด คาดว่าอีก 2-3 สัปดาห์คงแล้วเสร็จ ซึ่งทางบอร์ดระบุว่า หากรฟม.ทำเสร็จก็พร้อมประชุมพิจารณาให้ทันทีเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ซึ่งยอมรับว่า รฟม.เองก็อยากให้การลงทุนเป็นแบบแพ็กเกจ คือรายเดียวรับไปทั้งงานโยธาและเดินรถ เพราะเราเห็นตัวอย่างจากสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิตมาแล้วว่า งานโยธาเสร็จไปตั้งนานแล้วแต่ยังเดินรถไม่ได้ หากเราให้เอกชนรับไปเป็นแพ็กเกจงานก็จะเกิดความต่อเนื่อง แต่ก็ต้องไปพิจารณาทั้งเรื่องวินัยการเงินการคลังและการก่อหนี้สาธารณะให้รอบคอบอีกครั้ง และเรายังตั้งเป้าเปิดประมูลให้จบภายในปี 2562” นายภคพงศ์  กล่าว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ