คลังปัดเลื่อนใช้ก.ม.ที่ดินนายกฯสั่งเสร็จรัฐบาลนี้
Loading

คลังปัดเลื่อนใช้ก.ม.ที่ดินนายกฯสั่งเสร็จรัฐบาลนี้

วันที่ : 27 มิถุนายน 2561
คลังปัดเลื่อนใช้ก.ม.ที่ดินนายกฯสั่งเสร็จรัฐบาลนี้

รมช.คลัง ย้ำไม่เลื่อนใช้กฎหมาย ที่ดิน ระบุชัดนายกรัฐมนตรีต้องการให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ขณะ กมธ. ชี้จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ เผยเตรียมประชุมอีกรอบ 11 ก.ค. เพื่อพิจารณาข้อเสนอจากองค์กรต่างๆ   มั่นใจแล้วเสร็จทัน 23 ก.ค.นี้ ด้านภาคเอกชนหวังเห็นความชัดเจน

กระแสข่าวที่ระบุว่า คณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่พิจารณาร่างกฎหมาย ฉบับนี้ เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็นปี 2563 จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในปี 2562 นั้น ล่าสุดทางรัฐบาลยืนยันว่า ยังไม่ได้มีแผนที่จะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ต้องการให้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่าน สนช. ภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ในชั้นกรรมาธิการ สนช. ได้ขยายอายุการพิจารณาเป็นรอบที่ 7 แล้ว ซึ่งจะมีระยะเวลาการพิจารณาจนถึงสิ้นสุดเดือนก.ค.นี้ โดยประเด็นในการพิจารณาที่เป็นรายละเอียด เช่น ความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อจัดทำเป็นฐานภาษี เนื่องจาก ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งจะมีหน้าที่จัดเก็บภาษีนี้ตามกฎหมาย ยังไม่สามารถเข้าไปในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของเอกชนได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ

"หลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 1 ม.ค.2562 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีระยะเวลาหนึ่งในการเข้าไปสำรวจ เนื่องจากจัดเก็บภาษีจะเก็บปีละครั้งในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี"

ย้ำต้องลงรายละเอียดก.ม.ลูก

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ สนช.ที่พิจารณาร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำเป็นต้องลงรายละเอียดกฎหมายลูกของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อควบคุมให้อยู่ในกรอบที่กำหนด ทั้งนี้ การลงรายละเอียดดังกล่าว ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้มากขึ้น

เขากล่าวว่า แม้ว่าตัวกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูก จะเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร(รัฐบาล) ที่จะยกร่างออกมาก็ตาม แต่เนื่องจากคณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า ในหลายครั้ง เมื่อกฎหมายแม่มีผลบังคับใช้แล้ว และรัฐบาลไปออกกฎหมายลูกซึ่งเป็นรายละเอียดต่างๆในกฎหมายแม่ แต่ปรากฏว่า ตัวกฎหมายลูก ออกมาไม่เป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือบางกรณีก็ไม่ได้ออกกฎหมายลูกตามระยะเวลาที่กำหนด

"ตัวกฎหมายลูกจะเป็นเรื่องของการ ยกเว้น ลดหย่อน หรือบรรเทาผลกระทบจากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเปลี่ยนฐาน ภาษีเป็น ราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์ในปัจจุบัน จากเดิมที่ใช้ฐานค่าเช่ารายปี และฐานราคาประเมินที่ดินเมื่อเกือบ40ปีที่แล้ว"

แนะรับฟังข้อเสนอต่างๆ

นายอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการหารือเกี่ยวกับการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย โดยยังอยู่ในกรอบเดิม คือ บังคับใช้ในปี 2562 และจัดเก็บภาษีในปี 2563 โดยที่ประชุมเห็นว่าควรมีการพิจารณาข้อเสนอของหน่วยงานต่างๆให้มีความรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อเสนอของหอการค้าไทยเกี่ยวกับผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งมีข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

สำหรับประเด็นข้อเสนอจากหน่วยงานต่างๆที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เช่น ผลกระทบต่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะ เช่น ไฟฟ้า น้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบ ต่อทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนที่ทำธุรกิจนี้ โดยคณะกรรมาธิการฯ ต้องการพิจารณาเพื่อไม่ให้กระทบกับต้นทุนทำธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบ ต่อเนื่องถึงผู้บริโภค

นัดประชุมพิจารณา11ก.ค.นี้

นอกจากนี้ มีการพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะต้องประเมินและจัดเก็บภาษีเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจในการประเมินและจัดเก็บภาษี

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอ ขององค์กรต่างๆ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 11 ก.ค.นี้ โดยการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ มีกำหนดถึงวันที่ 23 ก.ค.2561 โดยถ้ามีการพิจารณาข้อเสนอของหน่วยงานต่างๆ เสร็จก็คงไม่มีการต่ออายุการพิจารณาอีก

เอกชน'หวังอัตราจัดเก็บชัดเจน

นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การเก็บภาษีที่ดิน จะเก็บช้าหรือเร็ว ขอให้รัฐดำเนินการและมีอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินปี 2562 ในมุมผู้ประกอบการจะไม่กระทบมากนัก แต่สำหรับเจ้าของที่ดิน อาจมีการปล่อยที่ดินออกมามากขึ้น

ส่วนผู้ประกอบการ หากได้ที่ดินมา อาจปรับเปลี่ยนการแบ่งที่ดินเป็นเฟสเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยช้าหรือถี่ขึ้น เพราะการถือครองที่ดินไว้นานจะมีผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจ จากเดิมภาระต้นทุนมาจากอัตราดอกเบี้ยจากเงินที่ซื้อที่ดินเท่านั้น และจ่ายภาษีเมื่อมีรายได้เข้าบริษัท

"หากภาษีที่ดินบังคับใช้ปีหน้า การจูงใจให้ผู้ประกอบการอสังหาฯซื้อที่ดินเก็บไว้อาจน้อยลง เพราะจะมี ภาระต้นทุนภาษีรวมเข้ามา ซึ่งปกติ บริษัทจะซื้อที่ดินแล้วพัฒนาโครงการทันที อย่างไรก็ตาม ที่ดินทำเลทองเชื่อว่าเจ้าของที่ยังคงเก็บไว้เหมือนเดิม เพราะผู้พัฒนาอสังหาฯมีมากยังไง ยังแย่งกันซื้อ และทำเลดียังสร้างคอนโดมิเนียม ออฟฟิศ เซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ โรงแรมได้"

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ