รถไฟฟ้าดันราคา'ที่ดิน'พุ่งปรี๊ด พระโขนง-บางนามากสุดรับ'บีทีเอส' 'นครปฐม-สมุทรสาคร'ไม่น้อยหน้า
Loading

รถไฟฟ้าดันราคา'ที่ดิน'พุ่งปรี๊ด พระโขนง-บางนามากสุดรับ'บีทีเอส' 'นครปฐม-สมุทรสาคร'ไม่น้อยหน้า

วันที่ : 23 กรกฎาคม 2561
รถไฟฟ้าดันราคา'ที่ดิน'พุ่งปรี๊ด พระโขนง-บางนามากสุดรับ'บีทีเอส' 'นครปฐม-สมุทรสาคร'ไม่น้อยหน้า

เปิดผลศึกษาราคาที่ดินเปล่า กทม.-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปีนี้ ราคาเพิ่มขึ้น รวม 15.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ โดยทำเลที่ปรับมากสุดคือย่านพระโขนง บางนา รองลงมาคือนครปฐม สมุทรสาคร โดยทั้งหมดรับอานิสงส์จากโครงการรถไฟฟ้า

รายงานข่าวจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ในไตรมาส 2 ปี 2561 พบว่าดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลดัชนีเท่ากับ 217.8 จุด เพิ่มขึ้น 15.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 189.0 จุด และปรับเพิ่มขึ้น 32.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 164.6 จุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินเปล่าที่อยู่ใกล้แนวเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าและในเขตจังหวัดปริมณฑล โดย 5 ทำเลที่ราคาที่ดินเปล่าปรับเพิ่มมากที่สุด คือ 1.เขตพระโขนง-บางนา-สวนหลวงประเวศ ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด 53% 2.นครปฐมมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 39.1% 3.เขตราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน- ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทอง ปรับเพิ่มขึ้น 38.2% 4.สมุทรสาครราคาเพิ่มขึ้น 27.4% และ 5.เขตกรุงเทพฯชั้นใน ปรับราคาเพิ่มขึ้น 20.1% โดยทั้ง 5 ทำเลเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการซื้อขยายตัวมาจากเมืองชั้นในที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาที่ดินชานเมืองเพิ่มตามไปด้วย

รายงานข่าวระบุอีกว่า หากแบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่าพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 56.1% ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรม มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 29.8% พื้นที่ที่อยู่อาศัยชุมชน (ทำเลใน จ.ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร) มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 19.7% พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 13.1% พื้นที่พาณิชยกรรม มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 6.6% พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 3.6% และพื้นที่เกษตรกรรม มีการ ปรับราคาเพิ่มขึ้น 2.6% และหากเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างที่ดินเปล่าในการใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมที่มีราคาต่ำสุด ส่วนพื้นที่พาณิชยกรรม มีราคาสูงกว่าพื้นที่เกษตรกรรม 133.4% ส่วนพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง มีราคาสูงกว่า 81.0% พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีราคาสูงกว่า 74.6% พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีราคาสูงกว่า 57.4% พื้นที่ที่อยู่อาศัยชุมชน มีราคาสูงกว่า 48.3% และพื้นที่อุตสาหกรรม มีราคาสูงกว่า 30.7%

นอกจากนี้ศูนย์ข้อมูลยังได้เปรียบเทียบราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแต่ละทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนผ่านกับราคาที่ดินในทำเลที่ไม่มีโครงการรถไฟฟ้าผ่าน พบว่าทำเลที่มีแผนการลงทุนโครงการลงรถไฟฟ้าในอนาคต มีราคาสูงกว่า 52.1% เนื่องจากราคาที่ดินปรับเพิ่มจากฐานราคาเดิมที่ยังไม่สูงมากนัก ส่วนทำเลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จะมีราคาสูงกว่า 32.1% ในขณะที่ทำเลที่มีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว จะมีราคาสูงกว่า 24.2% โดย 5 อันดับแรกที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดได้แก่ 1.BTS สายสุขุมวิท ปรับราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด 26.8% 2.สายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ปรับราคาเพิ่มขึ้น 23.5% 3.สายสีแดงเข้ม (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) ปรับราคาเพิ่มขึ้น 21.4% 4.สายสีน้ำเงิน (ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ-หัวลำโพง-บางแค) ปรับราคาเพิ่มขึ้น 21.3% และ 5.BTS สายสีลมปรับราคาเพิ่มขึ้น 21.2% ซึ่งทั้งหมดมีการปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และ เพื่อพักอาศัยใหม่ในพื้นที่

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ