ดัชนีราคาที่ดินเปล่าพุ่ง32.3%พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ นำโด่ง
Loading

ดัชนีราคาที่ดินเปล่าพุ่ง32.3%พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ นำโด่ง

วันที่ : 21 กรกฎาคม 2561
ดัชนีราคาที่ดินเปล่าพุ่ง32.3%พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ นำโด่ง

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่าในไตรมาส 2 ปี 2561 ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่ กรุงเทพฯปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 217.8 จุด เพิ่มขึ้น 15.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 189.0 จุด และเพิ่มขึ้น 32.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 164.6 จุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินเปล่าที่อยู่ใกล้แนวเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าและในเขตจังหวัดปริมณฑล

5 อันดับทำเลที่มีการปรับราคาของที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ 1) เขตพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศเพิ่มขึ้น 53.0% 2) เขตจังหวัดนครปฐมเพิ่มขึ้น 39.1% 3) เขตราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทองเพิ่มขึ้น 38.2% 4) เขตจังหวัดสมุทรสาครเพิ่มขึ้น 27.4% 5) เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เพิ่มขึ้น 20.1%

ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าทำเลดังกล่าวปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากไตรมาสก่อนหน้านี้สะท้อนให้เห็นราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นในเขตเมืองชั้นในได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวตามความต้องการที่ดินพื้นที่ชานเมืองส่งผลต่อการปรับราคาขึ้นของที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในเขตชานเมืองด้วย

ศูนย์ข้อมูลฯได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาโดยจำแนกตามประเภทแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในไตรมาส 2 ปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 พบว่า พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากปรับราคาเพิ่มขึ้น 56.1% ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมปรับราคาเพิ่มขึ้น 29.8% พื้นที่ที่อยู่อาศัยชุมชน (ทำเลในจังหวัดปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร) ปรับราคาเพิ่มขึ้น 19.7% พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยปรับราคาเพิ่มขึ้น 13.1% พื้นที่พาณิชยกรรม ปรับราคาเพิ่มขึ้น 6.6% พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางปรับราคาเพิ่มขึ้น 3.6% และพื้นที่เกษตรกรรม ปรับราคาเพิ่มขึ้น 2.6%

เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างที่ดินเปล่าในการใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมที่มีราคาต่ำสุดกับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแต่ละแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอื่น พบว่า พื้นที่พาณิชยกรรม มีราคาสูงกว่าพื้นที่เกษตรกรรม 133.4% ส่วนพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางมีราคาสูงกว่า 81.0% พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีราคาสูงกว่า 74.6% พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีราคาสูงกว่า 57.4% พื้นที่ที่อยู่อาศัยชุมชน มีราคาสูงกว่า 48.3% และพื้นที่อุตสาหกรรม มีราคาสูงกว่า 30.7% ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์เปรียบเทียบราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแต่ละทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนผ่านกับราคาที่ดินในทำเลที่ไม่มีโครงการรถไฟฟ้าผ่านพบว่าทำเลที่มีแผนการลงทุนโครงการลงรถไฟฟ้าในอนาคต มีราคาสูงกว่า 52.1% เนื่องจากปรับเพิ่มจากฐานราคาเดิมที่ยังไม่สูงมากนัก ส่วนทำเลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จะมีราคาสูงกว่า 32.1% ขณะที่ทำเลที่มีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว จะมีราคาสูงกว่า 24.2%

โดยทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านแล้วจะพบว่า 5 อันดับแรกที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดได้แก่ 1) BTS สายสุขุมวิทเพิ่มขึ้น 26.8% 2) สายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) เพิ่มขึ้น 23.5% 3) สายสีแดงเข้ม (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) เพิ่มขึ้น 21.4% 4) สายสีน้ำเงิน (ช่วงบางซื่อ- ท่าพระ-หัวลำโพง-บางแค) เพิ่มขึ้น 21.3% 5) BTS สายสีลม เพิ่มขึ้น 21.2% เป็นที่สังเกตว่าทำเลในพื้นที่ดังกล่าวปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ และเพื่อพักอาศัยใหม่ในพื้นที่

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ