เร่งขยายสุวรรณภูมิ3แสนล. ลุยเต็ม2หมื่นไร่ขึ้นฮับอาเซียน
Loading

เร่งขยายสุวรรณภูมิ3แสนล. ลุยเต็ม2หมื่นไร่ขึ้นฮับอาเซียน

วันที่ : 2 สิงหาคม 2561
เร่งขยายสุวรรณภูมิ3แสนล. ลุยเต็ม2หมื่นไร่ขึ้นฮับอาเซียน

ทอท.อัด 2-3 แสนล้าน ขยายสุวรรณภูมิเต็มพิกัด 2 หมื่นไร่ รับท่องเที่ยวโต แบ่งพัฒนา 5 เฟส ผุด 3 อาคารผู้โดยสาร 2 อาคารเทียบเครื่องบิน 4 รันเวย์ รับ 150 ล้านคนเสร็จปี'73 เร่งเฟส 2-4 เสร็จปี'63-69 แก้วิกฤตน่านฟ้า สร้างรถไฟฟ้าไร้คนขับ เชื่อมเทอร์มินอลใหม่-โครงการมิกซ์ยูส 900 ไร่  บิ๊กค้าปลีกปักธงรอ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อรองรับการ เติบโตของการเดินทางและธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโตแบบก้าวกระโดด นอกจาก ทอท.กำลังเร่งขยายสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้แล้ว ยังอยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมพัฒนาพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื้อที่รวม 20,000 ไร่ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ ซึ่งได้วางแผนการพัฒนาออกเป็น 5 ระยะ โดยระยะสุดท้าย ซึ่งจะมีการพัฒนาเต็มพื้นที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2573

แผนพัฒนาทั้งหมดจะมีอาคาร ผู้โดยสารรวม 3 แห่ง อาคารเทียบเครื่องบิน 2 แห่ง และรันเวย์ 4 รันเวย์ เพื่อไปสู่เป้าหมายเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน ส่วนเงินลงทุน ทอท.จะใช้เงินทุนมีอยู่ในปัจจุบัน 6.4 หมื่นล้านบาท กับปีหน้า 9.4 หมื่นล้าน และเงินกู้ ในประเทศบางส่วน ทั้งนี้ ในปี 2564-2565 หากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ทอท.อาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องราว 5 หมื่นล้านบาท โดยจะขาดสภาพคล่องในปี'64 ที่ 4 หมื่นล้าน และปี'65 อีก 1 หมื่นล้าน เนื่องจากต้องทุ่มลงทุนพัฒนาสนามบินรวมเบ็ดเสร็จประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ทั้งในส่วนของสนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และสนามบินในภูมิภาคที่ ทอท.รับผิดชอบ

เฟส 2 คืบ 30.62% เสร็จปี'63

นายนิตินัยกล่าวว่า หลังเปิดใช้สนามบิน สุวรรณภูมิเฟสแรก เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2549 กำลังเร่งก่อสร้างระยะที่ 2 เงินลงทุน 51,862 ล้านบาท มีความคืบหน้าโดยรวม 30.62% จะแล้วเสร็จเปิดใช้กลางปี 2563 รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเครื่องบินได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งไฮไลต์ของสุวรรณภูมิ เฟส 2 คือ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 มีพื้นที่ใช้สอย 2.5 แสนตารางเมตร และมีอุโมงค์เชื่อมระหว่างอาคารปัจจุบันกับอาคารใหม่ โดยจะมีรถไฟฟ้าไร้คนขับ หรือรถ APM วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ความยาวประมาณ 1 กม. 1 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 2 นาที

"ตอนนี้ถือว่าผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิคับคั่งมาก อยู่ที่ 61 ล้านคนต่อปี เกินขีดความสามารถที่ 45 ล้านคนต่อปีไปแล้ว ส่วนเที่ยวบินเฉลี่ยอยู่ที่ 60-63 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากศักยภาพของรันเวย์ที่รับได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน่านฟ้าในบางช่วง ที่ได้รับผลกระทบจากเที่ยวบิน ที่สนามบินดอนเมือง ทำให้ต้องเร่งก่อสร้างเฟส 2 ให้แล้วเสร็จ และเดินหน้า เฟส 3 ควบคู่กันไป ซึ่งเฟส 3 จะมีอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และรันเวย์ 3 เงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้าน จะเปิดประมูลและก่อสร้างปี'62 แล้วเสร็จปี'64 จะทำให้สุวรรณภูมิมีศักยภาพรองรับ ผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี"

สำหรับความคืบหน้าสุวรรณภูมิ เฟส 2 ประกอบด้วย 1.อาคารเทียบเครื่องบิน รองหลังที่ 1 (ชั้นใต้ดิน) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ 12,050 ล้านบาท มีความคืบหน้า 83.01% จะแล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2562 มี 28 หลุมจอด พื้นที่ลาดจอด 250,000 ตร.ม. รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ A380 ได้พร้อมกัน 8 ลำ และอื่น ๆ อีก 20 ลำ ในเวลาเดียวกัน

2.อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และระบบย่อยส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ 14,235 ล้านบาท เริ่มงานเดือน ก.พ. 2561 จะแล้วเสร็จเดือน พ.ย. 2562 เป็นอาคาร 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 216,000 ตร.ม. และร้านค้า 20,000 ตร.ม.

3.อาคารสำนักงานสายการบิน และที่จอดรถด้านทิศตะวันออก จะประมูลเดือน ต.ค.นี้ และได้ผู้รับจ้างเดือน ม.ค. 2562 จะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย. 2563 4.ส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก กว่า 6,000 ล้านบาท จะขออนุมัติจากกระทรวงคมนาคม สภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะขอย้ายตำแหน่งจากฝั่งตะวันออกมาเป็นฝั่งตะวันตกแทน จะประมูลเดือน พ.ย.นี้ ได้ผู้รับจ้างเดือน ก.พ. 2562 แล้วเสร็จเดือน มิ.ย. 2564

5.ระบบสาธารณูปโภค 1,980 ล้านบาท คืบหน้า 38.85% จะแล้วเสร็จเดือน พ.ค. 2562 6.ติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสาร อัตโนมัติ (APM) 2,999 ล้านบาท จะเสร็จ เดือน เม.ย. 2563 จะมีรถบริการ 6 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ รวม 12 ตู้ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. รับส่ง ผู้โดยสารอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 กับอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน รับผู้โดยสารได้ 210 คนต่อขบวน หรือ 6,000 คนต่อชั่วโมง

7.ติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดขาออก 3,646  ล้านบาท จะเสร็จเดือน เม.ย. 2563 และ 8.ติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดขาเข้า จะประมูลเดือน ส.ค. ได้ผู้รับจ้างเดือน พ.ย.นี้ เสร็จเดือน เม.ย. 2563

พัฒนา 5 เฟส กว่า 2-3 แสน ล.

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง กล่าวเพิ่มเติมว่า มาสเตอร์แพลนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ 5 ระยะ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 2-3 แสนล้านบาท โดยระยะที่ 2-4 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

ส่วนระยะสุดท้าย (เฟสที่ 5) ยังไม่ได้ประเมินเงินลงทุน แต่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนหลัก 1 แสนล้านบาท เพราะจะต้องก่อสร้างโครงข่ายถนน ทางเชื่อม และระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลอำนวยความสะดวกเพิ่ม รวมถึงจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ทางด้านทิศใต้ มีพื้นที่ใช้สอย 5 แสน ตร.ม. รองรับ ผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี และรันเวย์ที่ 4 ตามแผนจะเริ่มสร้างปี 2568 เสร็จปี 2573 จะทำให้สุวรรณภูมิใน 10 ปีข้างหน้า รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านต่อปี และ 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

"ส่วนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ จะเป็นการเติมเต็มเฟสแรก มีสร้างอาคารผู้โดยสาร อาคารเทียบเครื่องบิน และรันเวย์ที่ 3 และ 4 ปรับให้รับกับความต้องการมากที่สุด โดยแบ่งพัฒนาเป็นเฟส ๆ พร้อมกับทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ เป็นภาพรวมทั้งโครงการ เพื่อให้พัฒนาได้เร็วขึ้น"

ปลายปีนี้เร่งประมูลเฟส 3

สำหรับการพัฒนาระยะที่ 3 จะใช้เงินลงทุนกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท มีอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 วงเงิน 42,084 ล้านบาท พื้นที่ใช้สอย 3.8 แสน ตร.ม. รองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี และรันเวย์ที่ 3 วงเงิน 24,651 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 1.4 หมื่นล้านบาท และค่าชดเชยเสียง 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งจะมีรถไฟฟ้ายกระดับ กำลังพิจารณาว่าจะเป็นโมโนเรล หรือระบบ APM เชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่กับหลังเก่า และสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ระยะทางประมาณ 2.5 กม.

นอกจากนี้ ในอนาคตจะขยายเส้นทาง เชื่อมกับที่ดินแปลง 37 จำนวน 990 ไร่ ที่เช่าจากกรมธนารักษ์ และอยู่บริเวณด้านนอกอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันบางส่วนแบ่งพัฒนาเป็นไบก์เลนไปแล้ว ซึ่ง ทอท.จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP พัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์รูปแบบมิกซ์ยูส เพื่อรองรับ ผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบิน

"ส.ค.นี้รันเวย์ที่ 3 จะได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA จะเดินหน้าคู่ขนาน กับการประมูล อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่กำลังออกแบบ คาดว่าจะเสนอ ครม.เดือน ก.ย. เริ่มประมูลและก่อสร้างปี'62 แล้วเสร็จปี'64 รองรับผู้โดยสารเป็น 90 ล้านคนต่อปี และ 94 เที่ยวบิน ต่อชั่วโมง "

ขณะที่ระยะที่ 4 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท มีก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และอาคาร ผู้โดยสารและอาคารจอดรถด้านตะวันออก ประมาณ 6,000 ล้านบาท จะรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี ตามแผนจะเริ่มดำเนินการปี 2564-2569 เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารเป็น 105 ล้านคนต่อปี และ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ยักษ์ค้าปลีกผุด "เอาต์เลต"

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า นอกจากรัฐจะเร่งลงทุนขยายสนามบิน สุวรรณภูมิรองรับการท่องเที่ยวและการเดินทางที่เติบโตต่อเนื่องแล้ว ในส่วนของภาคเอกชนก็มองเห็นโอกาสและช่องทางในการดำเนินธุรกิจในทำเลโซนตะวันออกใกล้สนามบินสุวรรณภูมิรับกระแสบูมเช่นเดียวกัน โดยสยาม พิวรรธน์ได้ร่วมทุนยักษ์ใหญ่อสังหาฯจากอเมริกา "ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป" ทุ่มงบฯหมื่นล้านเปิด "ลักเซอรี่ พรีเมี่ยม เอาต์เลต" ใน 3 ปีปักธง 3 สาขา เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวและช็อปปิ้งที่นักเดินทางทั่วโลกจะต้องมาเยือน เริ่มสาขาแรกกรุงเทพฯ ทำเลโซนตะวันออก บนพื้นที่ 150 ไร่ เริ่มสร้างเดือน ส.ค.นี้ เปิดบริการเดือน ต.ค. 2562

ด้าน "กลุ่มเซ็นทรัล" ลงทุน 5,000 ล้านบาท ก่อสร้างศูนย์การค้ารูปแบบ ลักเซอรี่เอาต์เลตขนาด 40,000 ตร.ม. ภายใต้ ชื่อ"เซ็นทรัล วิลเลจ" บนที่ดิน 100 ไร่ บริเวณถนนมอเตอร์เวย์-บางนา-ตราด ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 10 นาที เป็นแหล่งรวมแบรนด์เนมต่างประเทศและแบรนด์ไทยรวมกว่า 235 แบรนด์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวแวะซื้อสินค้าของฝาก ได้ด้วย และจะเพิ่มโรงแรมขนาด 200 ห้อง พร้อมจะเปิดบริการเดือน ก.ย. ปี 2562 รองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ