ทุน ปราจีนบุรี ย้ายซบอีอีซี
Loading

ทุน ปราจีนบุรี ย้ายซบอีอีซี

วันที่ : 22 สิงหาคม 2561
ทุน ปราจีนบุรี ย้ายซบอีอีซี

สภาอุตสาหกรรม จังหวัดปราจีนบุรี เผย หลังเกิด อีอีซี ส่งผล โรงงานอุตสาหกรรมย้ายฐานการลงทุนเพียบ เตรียมทำหนังสือเสนอ "สมคิด" นำ จ.ปราจีนบุรีรวมเข้ากับพื้นที่ อีอีซี เผย มี ความพร้อมในการลงทุนสูง มีโครงสร้างพื้นฐาน ครบถ้วน มีพื้นที่อุตสาหกรรมกว่า 5.6 หมื่นไร่ ยอดการลงทุนสูงเป็นอันดับ 4 ของ ภาคตะวันออก

นายชาญชัย จินดาสถาพร ประธาน สภาอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า จากนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ได้ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนมาก ส่งผบกระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของจ.ปราจีนบุรีเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบางส่วนย้านฐานการผลิตไปยังพื้นที่ อีอีซี เพราะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีต่างๆ สูงกว่า รวมทั้งยังสามารถเช่าที่ดินได้ถึง 99 ปี ต่างจาก จ.ปราจีนบุรี ที่เช่าที่ดินได้ 30 ปี ซึ่งผู้ประกอบการบางส่วนที่ใกล้หมดสัญญาเช่าที่ดิน ก็เริ่มออกไปลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งหากไม่แก้ไขฐานอุตสาหกรรมใน จ.ปราจีนบุรีก็จะลดลงเรื่อยๆ

นายชาญชัย กล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.จ.ปราจีนบุรี อยู่ระหว่างการทำหนังสือเสนอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาใน เรื่องนี้ และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็จะนำเรื่องนี้ขึ้นหารือในเวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อให้พิจารณารวม จ.ปราจีนบุรี เข้าร่วมกับ พื้นที่อีอีซีต่อไป

"จ.ปราจีนบุรีมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคในทุกด้าน มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง นักลงทุนสามารถเข้ามาตั้งโรงงานได้ทันที ทั้งนี้หากรัฐบาลขยายเส้นทาง รถไฟความเร็วสูงเข้ามาในพื้นที่ ก็จะยิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และประชาชนมากขึ้น ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคัก"

ชู 7 ประเด็นเหมาะเข้าอีอีซี

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมปราจีนบุรีได้สรุปข้อมูลเพื่อชี้ให้เห็นว่าปราจีนบุรี มีศักยภาพหลายด้านที่เหมาะสมที่จะเข้าไปอยู่ในอีอีซี 7 ประการ ได้แก่ 1.ปราจีนบุรีมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนสูง มีสถิติการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นอันดับ 4 ของภาคตะวันออก รองจากชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยใน ปี 2560 มีจำนวน 25 โครงการ มีมูลค่า การลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนและมูลค่าการลงทุนลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่มีโครงการ อีอีซี ซึ่งหากรวมเข้ากับ อีอีซี ก็มั่นใจว่ามูลค่าการลงทุนของ จ.ปราจีนบุรี จะเพิ่มขึ้นอีกมาก

2. ปราจีนบุรี มีการพัฒนาทางหลวงเพื่อรองรับระบบการขนส่งหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาทางหลวงรองรับ อีอีซี ซึ่งมีโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3079 ตอนศรีมหาโพธิ-พญาจ่าย เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 2.714 กม. ปรับปรุงทางแยกโคกขวาง ก่อสร้างจุดกลับรถทางหลวงหมายเลข 304 ตอนกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว และก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ตอนปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 17 กม. และโครงการพัฒนา ทางหลวงเศรษฐกิจอาเซียน และเขต เศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยได้ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 33 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 28.8 กม. และก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 319 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 38.1 กม. และยังได้ขยายทางหลวง ภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัดอีก 5 เส้นทาง เป็น 4 ช่องจราจร ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่ต้องลงทุนในส่วนนี้เพิ่ม

3. ปราจีนบุรีเป็น 1 ใน 15 จังหวัดนำร่อง ในการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการพัฒนา และยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างยั่งยืน

4.ปราจีนบุรี มีศักยภาพความเหมาะสม ในด้านพื้นที่อุตสาหกรรม โดยมีที่ดินประเภท อุตสาหกรรมและคลังสินค้า(สีม่วง)56,318 ไร่ เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว และยังมีสวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขตประกอบการอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี มีพื้นที่ 2,563 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค มีพื้นที่ 1,075 ไร่ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ 2,068 ไร่ สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียลปาร์ค มีพื้นที่ 7,500 ไร่ และสวนอุตสาหกรรมโรจนะปราจีนบุรี มีพื้นที่ 3,998 ไร่

ชี้อยู่ใกล้สนามบิน-ท่าเรือ

5.ปราจีนบุรี เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อ คมนาคมที่สำคัญ ที่สามารถเดินทางไป ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงกัมพูชา และท่าเรืออย่างสะดวก ซึ่งหากรวมเข้าไปอยู่ใน อีอีซี ก็มั่นใจว่า จะมียอดการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกมาก อย่างแน่นอน รวมทั้งมีระยะห่างจากพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจไม่มาก โดยห่างจากกรุงเทพฯ 14 กม. สนามบินสุวรรณภูมิ 110 กม. ท่าเรือแหลมฉบัง 130 กม. ท่าเรือกรุงเทพ 150 กม. ท่าเรือมาบตาพุด 160 กม. อ่าวพัทยา 150 กม. นครราชสีมา 160 กม. คลังสินค้าลาดกระบัง 105 กม.

6. ปราจีนบุรี มีความพร้อมด้านไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ทั่วถึง และ มีโรงไฟฟ้าของเอกชน ที่สามารถรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และ7. ปราจีนบุรี มีความพร้อม ด้านปริมาณน้ำต้นทุน มีอ่างเก็บน้ำ นฤบดินทรจินดา ความจุกว่า 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอทั้ง ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการแปรรูปเกษตรต่างๆ รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ของประชาชนและระบบประปา

เตรียมผลักดันปราจีนฯทุกเวที

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า จ.ปราจีนบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความสำคัญ ในภาคตะวันออก และยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่โดดเด่นเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่โรงงานเข้ามา ตั้งใหม่ และขยายกิจการเป็นจำนวนมาก ทุกปี หากไม่นำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ อีอีซี ปล่อยให้มีการย้ายฐานการผลิตออกไป ก็จะยิ่งน่าเสียดาย เพราะกว่าจะถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลาการพัฒนาหลายปี และใช้เงินลงทุนมหาศาล

"สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก จะผลักดันในการนำจ.ปราจีนบุรีเข้าร่วม ในอีอีซีต่อไปในทุกเวที ซึ่งการที่รัฐ เพิ่มจังหวัดในอีอีซี มากขึ้น ก็ไม่มี ความเสียหายใดๆ และไม่กระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุน เพราะกว่าที่จะลงทุน แต่ละโรงงาน จะต้องผ่านการพิจารณา อย่างรอบคอบ คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดของอุตสาหกรรมตัวเอง จึงไม่ได้ให้ความสำคัญว่ารัฐจะขยายพื้นที่อีกกี่จังหวัด ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ อีอีซี ประเทศชาติจะได้รับประโยชน์มากขึ้น"

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ