คอนโดกรุงเทพฯแข่งขันสูง บทพิสูจน์ฝีมือผู้ประกอบการ
Loading

คอนโดกรุงเทพฯแข่งขันสูง บทพิสูจน์ฝีมือผู้ประกอบการ

วันที่ : 24 สิงหาคม 2561
คอนโดกรุงเทพฯแข่งขันสูง บทพิสูจน์ฝีมือผู้ประกอบการ

นายแอนดรูว์ กัลป์แบรนด์สัน หัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย)จำกัด หรือJLL กล่าวถึงภาวะตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ว่า ซัพพลายยังมีอัตราการเติบโต อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันซัพพลายคอนโดฯ มีมากถึง 540,000 ยูนิต ซึ่งสัดส่วน 82-85% หรือ จำนวน 451,000 ยูนิต เป็นคอนโดฯ ระดับแมส และจำนวน 89,000 ยูนิต เป็นคอนโดฯ ระดับบน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี มีโครงการเปิดตัวใหม่ในตลาดแมส รวมทั้งสิ้น 17,300 ยูนิต หรือราว 4% ของจำนวนยูนิตที่มีอยู่เดิม ส่วนตลาดบนมีโครงการเปิดตัวใหม่รวม 13,200 ยูนิต หรือประมาณ 15% ของจำนวนยูนิตที่มีอยู่เดิม และมีจำนวน 140,000 ยูนิต จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา กำลังการซื้อที่ถูกจำกัดโดยหนี้สินครัวเรือนระดับสูง แต่ซัพพลายในตลาดมีจำนวนมากเกิน ขณะที่ดีมานด์ไม่ขยายตัวเร็ว ส่งผลให้การขายคอนโดฯ ในตลาดแมสชะลอตัวลงมาก จึงมีผู้ประกอบการหลายรายปรับกลยุทธ์ อาทิ การเปลี่ยนไปจับตลาดคอนโดระดับบน การหันไปทำตลาดบ้านมากขึ้น และการขยายธุรกิจไปทำอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ระยะยาว อาทิ อาคารสำนักงาน และโรงแรม

ทั้งนี้การที่ผู้ประกอบการหันไปจับตลาดบนมากขึ้น ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา การปรับขึ้นของราคาขายคอนโดฯ ตลาดบนได้ชะลอลง โดยมีราคาเฉลี่ยค่อนข้างทรงตัวระหว่าง 175,000-180,000 บาทต่อตารางเมตร

นายแอนดรูว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มั่นใจว่าตลาดคอนโดฯ ยังไม่เกิดสภาวะ ฟองสบู่อย่างแน่นอน แต่อาจจะมีโอเวอร์ซัพพลายในบางพื้นที่ ขณะ เดียวกันความต้องการที่อยู่อาศัยก็ยังมีอยู่ ซึ่งจากสภาวะตลาดคอนโดฯ ที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัว ด้วยการนำโครงการไปเปิดขายในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะที่จีนและฮ่องกง โดยเฉพาะจีน ที่มีอัตราการซื้ออสังหาฯ ไทยมากเป็นอันดับ 1 และอีกหนึ่งกลยุทธ์คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้กับโครงการคอนโดฯ มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายที่ได้นำระบบพรีแฟบมาใช้ในการพัฒนาโครงการ ซึ่งทำให้ Layout ของห้องชุดมีความยืดหยุ่นได้ ตามความต้องการของลูกค้า และอีกกลยุทธ์ในการหลบเลี่ยงภาวการณ์แข่งขันที่สูง ด้วยการหันไปพัฒนาโครงการอสังหาฯประเภทอื่นๆ อาทิ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ หรือโรงแรม เป็นต้น

"คอนโดฯตลาดบนที่สร้างแล้วเสร็จ มียอดขายที่ค่อนข้างแข็งแกร่งจากการมีความต้องการของ ผู้ซื้อชาวไทยที่มีอยู่ต่อเนื่อง ประกอบการที่ผู้พัฒนาโครงการมีการนำโครงการไปเปิดขายในต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี นับเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้น ที่โครงการเปิดตัวใหม่ๆ จะสามารถทำยอดการขายได้รวดเร็วดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต นอกจากนี้แม้ผู้ประกอบการคอนโดฯ บางราย อาทิ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด ที่มีการใช้กลยุทธ์ในการเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะและประสบความสำเร็จท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นมากช่วงไม่กี่ปี ที่ผ่านมา แต่พบว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้หลายรายได้เริ่มผันตัวออกไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทอื่นมากขึ้น จากการตระหนักถึงสภาพตลาดที่มีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ" นายแอนดรูว์ กล่าว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทุเดย์
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ