สนช.ผ่านฉลุย พรบ.ภาษีที่ดิน
Loading

สนช.ผ่านฉลุย พรบ.ภาษีที่ดิน

วันที่ : 17 พฤศจิกายน 2561
มติ สนช. เอกฉันท์ 169 ต่อ 0 ผ่าน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเก็บ 4 ประเภทแบบขั้นบันได ทั้งที่ดินเพื่อการเกษตร-ที่อยู่อาศัยพาณิชย์-รกร้างว่างเปล่า ด้านนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร คาดบีบให้นายทุนเร่งขายที่ดิน เลี่ยงถูกเก็บภาษี กดราคาบ้าน-คอนโดฯ จะถูกลง ยกเว้นแนวรถไฟฟ้า-หัวเมืองใหญ่แพง เผยส่วนรักษาการ ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เชื่อเจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่า รีบนำออกมาใช้ประโยชน์มากขึ้น เตือนหากใช้ทำการเกษตร อาจทำสินค้าล้นตลาด-ระบบนิเวศพัง แนะควรเก็บอัตราเดียวแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ป้องกันสับสน
          มติ สนช. เอกฉันท์ 169 ต่อ 0 ผ่าน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเก็บ 4 ประเภทแบบขั้นบันได ทั้งที่ดินเพื่อการเกษตร-ที่อยู่อาศัยพาณิชย์-รกร้างว่างเปล่า ด้านนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร คาดบีบให้นายทุนเร่งขายที่ดิน เลี่ยงถูกเก็บภาษี กดราคาบ้าน-คอนโดฯ จะถูกลง ยกเว้นแนวรถไฟฟ้า-หัวเมืองใหญ่แพง เผยส่วนรักษาการ ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เชื่อเจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่า รีบนำออกมาใช้ประโยชน์มากขึ้น เตือนหากใช้ทำการเกษตร อาจทำสินค้าล้นตลาด-ระบบนิเวศพัง แนะควรเก็บอัตราเดียวแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ป้องกันสับสน
          เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 พ.ย. ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานในการประชุมสนช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งเลื่อนการลงมติมาจากวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ประชุม สนช.ลงมติเป็นรายมาตราในวาระ 2 เรียบร้อยแล้ว ที่ประชุม สนช. ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 169  ต่อ 0 และงดออกเสียง 2 เสียง ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่น การกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หากมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.01%  มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 %  2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 % มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1% สำหรับกรณีบ้านหลังหลัก หากเป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน ให้ได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียว ได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท
          ประเภทที่ 3 ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.6% มูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.7% และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี หากยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 3
          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้หลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเว้นอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ให้เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 63 นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาลยังระบุด้วยว่า ใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีแก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นบุคคลธรรมดา และใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมด้วย
          วันเดียวกัน นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และในฐานะรักษาการ ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าว หลังพ.ร.บ.ประกาศใช้ น่าจะกดดันให้กลุ่มคนที่ถือที่ดินว่างเปล่า และไม่มีแผนนำไปพัฒนาหรือลงทุน นำที่ดินออกมาขายมากขึ้น เพราะไม่ต้องการเสียภาษี ทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่จำเป็นต้องเร่งซื้อที่ดินเหมือนก่อน เนื่องจากมีให้เลือกซื้อมาก การแข่งขันราคาน้อยลง เจ้าของไม่กล้าขายแพงเหมือนก่อน ทั้งนี้คาดว่า ราคาที่ดินและ ที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินว่างเปล่าในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ขยับขึ้นเฉลี่ยปีละ 10-20% แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ภาษีที่ดินใหม่ อาจจะคลายตัว เหลือโตเพียงตัวเลขหลักเดียว เพราะที่ดินต้นทุนถูกลง ราคาขายก็จะลดลงตาม ยกเว้นในเขตเมือง แนวรถไฟฟ้า หรือเมืองใหญ่ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก เพราะมีจำนวนจำกัด อีกทั้งราคาปรับตัวแพงขึ้นมากกว่าภาระภาษีที่จ่าย จึงคุ้มหากถือครองไว้ ทั้งนี้ราคาจะปรับขึ้นมากแค่ไหน ต้องดูสถานการณ์กำลังซื้อ และสต๊อกที่ค้างไว้ด้วย
          ด้าน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า เชื่อว่าหลังจากนี้ ผู้ที่ครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ หรือขายทอดตลาดมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนที่ดินในตลาดจะเพิ่มขึ้น และราคาในบางทำเลอาจไม่สูงเหมือนที่ผ่านมา แต่ราคาที่ดินใจกลางเมืองยังคงปกติ เพราะยังมีความต้องการซื้อมากกว่า ทั้งนี้หากนำที่ดินว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ไม่ว่าจะปลูกเอง หรือให้เกษตรกรเช่า เพื่อให้ได้รับเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ต่ำลง อาจทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจนเกินความจำเป็นได้ รวมถึงอาจส่งกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น ปัญหาน้ำท่วม เพราะจากเดิมที่ดินว่างเปล่าจะเป็นแหล่งดูดซับน้ำในฤดูฝน ขณะเดียวกันการแบ่งประเภทจัดเก็บภาษีถึง 4 ชนิด อัตราแตกต่างและจัดเก็บแบบขั้นบันไดเป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากปัจจุบันราคาประเมินก็มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว โดยส่วนตัวมองว่า ควรจัดเก็บที่อัตราเดียว เหมือนกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จะสร้างความชัดเจนมากกว่า และไม่ทำให้ผู้เสียภาษีสับสนอีกด้วย
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ