ภาษีที่ดินบีบนายทุนเร่งขาย กดราคาที่ดิน-บ้าน-คอนโดฯ
Loading

ภาษีที่ดินบีบนายทุนเร่งขาย กดราคาที่ดิน-บ้าน-คอนโดฯ

วันที่ : 20 พฤศจิกายน 2561
จบสิ้นมหากาพย์ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ปิดฉากตำนานกฎหมายที่ไม่มีใครกล้าแตะ ด้วยเพราะการประชุมสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.........ในวาระ 2 และ 3 ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 169 ต่อ 0 และงดออกเสียง 2 เสียง
          วุฒิชัย มั่งคั่ง
          จบสิ้นมหากาพย์ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ปิดฉากตำนานกฎหมายที่ไม่มีใครกล้าแตะ ด้วยเพราะการประชุมสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.........ในวาระ 2 และ 3 ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 169 ต่อ 0 และงดออกเสียง 2 เสียง
          มีผลบังคับใช้หลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเว้นอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป ที่มาแทนกฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ทำให้ไม่กระทบกับผู้เสียภาษีแต่อย่างไร แต่เป็นการออกกฎหมายเพื่อให้การเก็บภาษีขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) มีประสิทธิภาพมากขึ้น
          ลดความเหลื่อมล้ำ
          กฎหมายนี้ ถือเป็นกฎหมายสำคัญอีกหนึ่งฉบับ ที่ รัฐบาลท็อป บู๊ต ผลักดันจนสำเร็จ แม้ระหว่างทางจะหยุดชะงักเหมือนถูกเททิ้งไปแล้วก็ตาม ด้วยเพราะร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดิมทีที่ประชุม สนช.รับหลักการในวาระ 1 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 60 จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 1 ชุด ซึ่งระหว่างนั้นได้ขอขยายระยะเวลาการพิจารณากว่า 9 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 61 ก่อนที่จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.อีกครั้งในวาระ 2 และวาระ 3 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 61 ที่ผ่านมา
          ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลชุดนี้ ต้องการผลักดันการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เพราะต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน เพราะการจัดเก็บภาษีที่ดินช่วยลดการเก็งกำไรจากการถือครองที่ดินทิ้งไว้เฉย ๆ โดยไม่ทำประโยชน์อะไร แต่สุดท้ายก็เหมือนเส้นขนาน เนื่องจากระหว่างทางเกิดการปรับเปลี่ยนอัตราการจัดเก็บภาษีและการยกเว้นส่วนแรก ส่งผลให้จากเดิมที่จะจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับต้องถูกตัดรอน เหลือเพียงน้อยนิด จึงต้องติดตามดูกันต่อว่าจะได้ตามเป้าหมายหรือไม่
          จัดเก็บภาษี 4 ประเภท
          สำหรับการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเป็น 4 ประเภท  ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม, ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย, ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า จัดเก็บภาษีตามเกณฑ์ของมูลค่า พร้อมมีบทเฉพาะกาลระบุว่า ช่วง 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีแก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรม
          1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หากมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05% 2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05% มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1% แต่กรณีบ้านหลังแรก หากเป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน ได้รับยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียว ได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท 
          ประเภทที่ 3 คือ ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.6% มูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.7% และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี หากยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 3%
          กระจายที่ดินรกร้าง
          แน่นอนว่าอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ถือว่าเป็นอัตราที่จัดเก็บมากที่สุด เพราะหากยังดื้อดึงไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์อัตราภาษีจะขยับขึ้นทุก 3 ปี ทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ต่างประเมินเป็นเสียงเดียวกันว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะถูกผลักดันมาที่ตลาดการซื้อขายมากขึ้น อย่าง "วิชัย วิรัตกพันธ์" ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ประเมินว่า หลังจากกฎหมายออกมาใช้ จะกดดันให้กลุ่มคนที่ถือที่ดินว่างเปล่า และไม่มีแผนนำไปพัฒนาหรือลงทุน นำที่ดินออกมาขายมากขึ้น ทำให้แนวโน้มราคาที่ดิน และที่อยู่อาศัยทั้งบ้าน และคอนโดมิเนียม ราคาเพิ่มแบบชะลอตัว
          "ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินว่างเปล่าในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ขยับขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 10-20% แต่เมื่อภาษีที่ดินใหม่ใช้ อาจจะคลายตัวเหลือเติบโตเพียงตัวเลขหลักเดียว เช่นเดียวกับราคาบ้าน คอนโดฯ ก็น่าจะมีราคาไม่แพงขึ้นเยอะเหมือนก่อน"
          เนรมิตพื้นที่เชิงเกษตร
          ขณะที่ "อธิป พีชานนท์" นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรมองว่า หากนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทั้งการปลูกเอง หรือปล่อยพื้นที่ให้เกษตรกรเช่า เช่น ปลูกยางพารา หรือกล้วย เพื่อให้ได้รับเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ต่ำลง อาจทำให้มีปริมาณสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากเดิม หรือเกินความจำเป็นได้ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ หากนำมาทำพื้นที่การเกษตร ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตามมาได้ จากเดิมที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเป็นแหล่งดูดซับน้ำตามธรรมชาติ เมื่อเป็นฤดูฝน
          "หลังจากนี้ผู้ที่ครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ หรือมาขายทอดตลาดมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนที่ดินในตลาดจะเพิ่มขึ้นจากเดิม และอาจทำให้ราคาในบางทำเลไม่เกิดการแข่งขันที่สูงเหมือนที่ผ่านมา ถือเป็นการลดแรงการเก็งกำไร ส่วนราคาที่ดินใจกลางเมืองยังคงปกติ เนื่องจากยังมีความต้องการซื้อมากกว่า"
          ส่วนการแบ่งประเภทจัดเก็บภาษีที่มีความหลากหลายถึง 4 ชนิด และอัตราที่แตกต่างและการจัดเก็บแบบขั้นบันได ถือเป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากปัจจุบันราคาประเมินก็มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว และส่วนตัวมองว่าควรจัดเก็บที่อัตราเดียว เหมือนกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) แบบนี้จะสร้างความชัดเจนไม่เกิดปัญหาการตีความที่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษีอีกด้วย
          ท้าทายอสังหาริมทรัพย์
          ส่วน "อาภา อรรถบูรณ์วงศ์" นายกสมาคมอาคารชุดไทยระบุว่า หลังจากนี้คงต้องศึกษาถึงกฎหมายหลักและกฎหมายลูกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ประกอบการอย่างไร โดยเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าของเอกชนที่รอการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การจัดเก็บบ้านหลังที่ 2 ทันทีตั้งแต่บาทแรกที่อัตรา 0.02% อาจทำให้แรงซื้อที่อยู่อาศัยหลังจากนี้อาจชะลอตัวลงได้ โดยประเมินว่าภาคอุตสาหกรรมอสังหาริม ทรัพย์หลังจากนี้จะมีความท้าทายมากขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยที่มีอยู่อีกด้วย
          จากนี้ไปอีกปีเศษ ๆ ก่อนกฎหมายบังคับใช้จริงในปี 63 คงต้องจับตาดูกันว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะแห่แหนหาทางออกกันอย่างไร? และสุดท้ายเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำตามที่พร่ำบอกจะเดินหน้าได้มากน้อยเพียงใด!!.
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ