เขตศก.พิเศษสงขลาเนื้อหอม
Loading

เขตศก.พิเศษสงขลาเนื้อหอม

วันที่ : 10 พฤศจิกายน 2561
หลังจากรัฐบาลผลักดันโครงการเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการทำให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จ.สงขลา (กรอ.) ยังคงจัดประชุมเพื่อหารือและระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและ ภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการต่างๆ ว่าคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน
          อัศวิน ภักฆวรรณ

          ทุนนอกแห่ลงทุนแล้ว 2 พันล้าน

          หลังจากรัฐบาลผลักดันโครงการเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการทำให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จ.สงขลา (กรอ.) ยังคงจัดประชุมเพื่อหารือและระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและ ภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการต่างๆ ว่าคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน

          วีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผวจ.สงขลา เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา ทางภาครัฐและเอกชนเร่งผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ ของจังหวัด เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา โครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา โครงการก่อสร้างถนนลาดยางเรียบขอบพื้นที่โครงการด่านสะเดาแห่งใหม่ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษกับด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ตอนแยก ทล.4 (พรุเตียว)-ด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2

          โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย โครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนเลียบชายแดนไทย-มาเลเซีย สายบ้านไทย จังโหลน ต.สำนักขาม-ปาดังเบซาร์ โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่และโครงการก่อสร้างสถานีขนส่ง จ.สงขลา (Truk Terminal) โดยที่ประชุมครั้งล่าสุดได้นำเสนอโครงการวิจัยในเรื่องศักยภาพและความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ปลอดภาษี Duty Free Zone ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ กรณีศึกษาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณด่านนอกและปาดังเบซาร์

          โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีการขยายโอกาสในการค้าและการลงทุน ด้วยแนวคิดการกำหนดให้บริเวณพื้นที่เศรษฐกิจย่านการค้า ในบริเวณด่านนอกและเมืองปาดังเบซาร์ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภาษี หรือ Duty Free Zone ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งพื้นที่ทั้งสองแห่งจะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของการค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเขตที่เชื่อมต่อกับบริเวณพรมแดนไทย-มาเลเซีย

          ด้าน กวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล ประธานหอการค้า จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา มีความคืบหน้าและไม่คืบหน้าของแต่ละจังหวัดจะแตกต่างกัน แต่ในส่วน จ.สงขลา มีความชัดเจนเรื่องพื้นที่แล้วกว่า 1,000 ไร่ มีนักลงทุนที่สนใจการเข้ามาลงทุนด้วยแล้วประมาณ 6 บริษัทซัพพลายเออร์ชั้นนำของโลก ซึ่งได้ยื่นเรื่องขอสนับสนุนการลงทุนไปขอกับสำนักงานศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 5 (บีโอไอ) ด้วยวงเงินลงทุนทั้งสิ้นกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งทางบีโอไอได้ทำการอนุมัติการลงทุนไปแล้ว อย่างไรก็ตามการผลักดันโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนของแต่ละจังหวัด จะมีบริบทที่แตกต่างกันอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

          กวิศพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา นั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราและทำการประมง ดังนั้น ความ เหมาะสมลงทุนจะเป็นอุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมการประมงอาหารทะเลแปรรูป ยางพาราแปรรูป เป็นหลัก ส่วนการลงทุนด้านอื่นๆ เช่น ไซโล เรื่องอาหารแห้ง เครื่องประดับ อัญมณี และเรื่องข้าว ทาง จ.สงขลา ไม่มีนโยบายสนับสนุนนักลงทุน

          "พื้นที่ที่ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา เป็นพื้นที่สูง หากการลงทุนอุตสาหกรรมหนัก เรื่องน้ำเสีย จะบริหารจัดการจึงมีข้อจำกัดของการใช้พื้นที่และต้องเหมาะสม" กวิศพงษ์ กล่าวประธานหอการค้า จังหวัดสงขลา กล่าวอีกว่า สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา มีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย เช่น เป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคใต้ มีด่านสะเดา และด่านปาดัง เบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ชายแดนไทย มาเลเซีย ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดอันดับ 1 และอันดับ 2 ของไทย และพื้นที่อยู่ใกล้ท่าเรือปีนัง ท่าเรือกลาง ประเทศมาเลเซียและยังมีการเชื่อมโยงการรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย ผ่านทางปาดังเบซาร์ มีฐานการผลิตในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา อาหารทะเล ฯลฯ เป็นต้น

          นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ภายใต้โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซียไทย (IMT-GT) ยังจะสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายออกสู่ต่างประเทศได้ มากขึ้น สำหรับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา โดยมีแผนพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.สะเดา สำนักขาม สำนักแต้ว และ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถเชื่อมไปยังท่าเรือน้ำลึกสงขลา สนามบินหาดใหญ่ ส่วนทางบกและทางรถไฟก็ยังสามารถเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียและเชื่อมโยงกับประเทศสิงคโปร์

          ขณะที่ สมพร สิริโปราณานนท์ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาหอการค้า จังหวัดสงขลา และกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต่างก็สนับสนุนให้ผลักดันให้เกิดโครงการดิวตี้ฟรีโซน เพราะหากผลักดันได้ผลสำเร็จจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่คึกคักเป็นพิเศษ และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ด่านนอกเทศบาล ต.สำนักขาม เขตรอยต่อรัฐเคดาห์ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร และเขตเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ เขตรอยต่อรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร

          หากผลักดันให้เกิดดิวตี้ฟรีโซนที่ด่านนอกและปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา จะทำให้การค้า การลงทุน และท่องเที่ยว ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา เป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ตลอดทั้งมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่สำคัญมีนักท่องเที่ยวทั้ง ชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวภาคใต้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และนานาชาติ
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ