ทุนใหญ่ สะสมที่ดินรอบ9สถานีราคาพุ่ง
Loading

ทุนใหญ่ สะสมที่ดินรอบ9สถานีราคาพุ่ง

วันที่ : 12 พฤศจิกายน 2561
อสังหาฯแจง ไฮสปีดเทรน ดันคอนโด-พื้นที่เชิงพาณิชย์ รอบสถานีคึก โดยเฉพาะสถานีมักกะสัน- บางซื่อ สถานีศรีราชา เหตุชุมทางเชื่อม กรุงเทพฯ-อีอีซี "คอลลิเออร์สฯ"เผย ทุนใหญ่แห่สะสมแลนด์แบงก์ ดันราคาที่ดิน 9 สถานีพุ่งเฉลี่ย 20-40% ขณะมูลค่าที่อยู่อาศัย อยู่ระหว่างการขาย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ณ ไตรมาส 3 ปีนี้ พุ่งแตะ 4.5 แสนล้าน
          อสังหาฯแจง ไฮสปีดเทรน ดันคอนโด-พื้นที่เชิงพาณิชย์ รอบสถานีคึก โดยเฉพาะสถานีมักกะสัน- บางซื่อ สถานีศรีราชา เหตุชุมทางเชื่อม กรุงเทพฯ-อีอีซี "คอลลิเออร์สฯ"เผย ทุนใหญ่แห่สะสมแลนด์แบงก์ ดันราคาที่ดิน 9 สถานีพุ่งเฉลี่ย 20-40% ขณะมูลค่าที่อยู่อาศัย อยู่ระหว่างการขาย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ณ ไตรมาส 3 ปีนี้ พุ่งแตะ 4.5 แสนล้าน

          โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 226 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย  สถานีรถไฟความเร็วสูง 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานี มักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานี ฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา กลายเป็น "โอกาสทอง"ของธุรกิจพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์ที่ในขณะนี้เห็นความเคลื่อนไหว คึกคัก เช่นเดียวกับราคาที่ดินรอบสถานีที่พุ่งขึ้น

          นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว จะช่วยรองรับการเดินทางให้สะดวกยิ่งขึ้น  ขณะเดียวกันจะเพิ่มโอกาสในการเคลื่อนย้ายคนไปยังที่ต่างๆ จากโหนดของการคมนาคมขนส่ง และสิ่งที่ตามมาคือ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดการพัฒนา โครงการต่างๆ

          ทั้งนี้ ประเมินว่าไฮสปีดเทรนจากดอนเมืองถึงสุวรรณภูมิ ซึ่งมี 9 สถานี สถานีที่จะได้รับอานิสงส์ เช่น สถานีบางซื่อ เพราะเป็นสถานีใหญ่ เชื่อมต่อการเดินทางไปยังส่วนต่างๆ และจะมีการพัฒนาพื้นที่ เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีด้วย

          ขณะที่การเชื่อมต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภา มองว่าโอกาสขยายเมืองเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นมีสนามบินนาริตะ อยู่ไกลจากตัวเมือง เมื่อเทียบกับสนามบินฮาเนดะ เดินทางเข้าโตเกียวไม่นานนัก แต่การคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อสนามบินนาริตะ ทำให้เกิดเมือง โดยรอบสถานี ดังนั้น ในไทยพื้นที่โดยรอบหรือ ขอบจังหวัดที่เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา จะได้รับอานิสงส์ เช่น ชายขอบจังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นต้น

          "บริเวณรอบวงไข่แดงของไฮสปีดเทรน อาจจะมีโรงแรม ศูนย์กลางธุรกิจหรือบิซิเนสเซ็นเตอร์ ตึกสูงเกิดขึ้น ส่วนบริเวณไข่ขาวคือพื้นที่รอบนอก สถานีชลบุรี สถานีฉะเชิงเทรา อาจจะมีอาคารพาณิชย์ บ้านจัดสรร เกิดขึ้น ซึ่งออริจิ้นเอง ก็มีโครงการที่จะพัฒนาในบริเวณพื้นที่เหล่านี้ รองรับการคมนาคมขนส่งที่สะดวก และการเคลื่อนย้าย คนไปยังพื้นที่ต่าง" นายพีระพงศ์ กล่าว

          "ทองมา"เผยเอื้อคอนโดรอบสถานี

          นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาไฮสปีดเทรน โดยปกติจะมีสถานีไม่มากนัก 10-20 กิโลเมตร(กม.)ต่อ 1 สถานี เมื่อเทียบกับบีทีเอส จะมี ระยะห่างสถานีทุก 1 กม. แต่การเกิดโครงการ ดังกล่าวย่อมส่งผลต่อธุรกิจอสังหาฯ ในเชิงบวก แต่ส่วนใหญ่จะเอื้อต่อโครงการแนวสูงเกิดขึ้นโดยรอบสถานี ไม่เอือต่อ การพัฒนาโครงการแนวราบ ประเภทบ้านเดี่ยว ทาวเฮ้าส์ เพราะต้นทุนจะอยู่ในระดับสูงมาก ส่วนราคาที่ดินแนวโน้มปรับตัวขึ้นอยู่แล้ว

          "การเกิดไฮสปีดเทรนด์ จะช่วยให้ตลาดมีดีมานด์ ซัพพลายที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น และแน่นอนราคาที่ดินจะขยับขึ้นตามไปด้วย พอที่ดินแพงจะให้พัฒนาโครงการแนวราบ คงไม่ไหว ตึกสูงจะได้อานิสงส์มากกว่า แต่การพัฒนาคงต้องใช้เวลา

          นายแสนผิน สุขี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ กล่าวว่า อสังหาฯที่คาดว่าจะได้รับผลบวก มองว่า จะเป็นที่อยู่อาศัยราคาแพง และจะมีคอนโด เกิดขึ้น

          "ราคาที่ดินจะถีบตัวสูงขึ้น การพัฒนาอสังหาฯจะเห็นดีเวลลอปเปอร์ทำของแพงออกมาสู่ตลาด คอนโดเกิด ตอบสนองคนที่อยู่อาศัยในย่านดังกล่าว ได้เดินทางสะดวกยิ่งขึ้น กระตุ้นการท่องเที่ยว เพราะหากคนออกไปชอปปิงนอกเมือง รอต่อเครื่องบินกลับประเทศ ส่วนคนทำงานในสนามบินก็จะสะดวกสบายมากขึ้น"

          ราคาที่ดินรอบสถานีพุ่ง20-40%

          นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งประกอบด้วย สถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา พบว่าปัจจุบันราคาที่ดินปรับขึ้นแล้วกว่าเฉลี่ย 20-40% ในแต่ละพื้นที่

          เช่น ถนนสาย 36 จ.ชลบุรี เมื่อ 3-4 ปีก่อน ราคาอยู่ที่ไร่ละ 1 ล้านบาท ปัจจุบันพุ่งขึ้น เป็นไร่ละ 12 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่ม เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เริ่มมีความเคลื่อนไหว คาดว่าจะก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ขณะที่ราคาที่ดินบริเวณสนามบิน อู่ตะเภา ติดถนนสุขุมวิท ปัจจุบันมีราคาเฉลี่ย สูงถึงไร่ละ 10 ล้านบาท

          ส่วนทำเลถนนเส้น 322 หรือ เลี่ยงเมืองสัตหีบ จากเดิมซื้อไร่ละประมาณ 5 แสนบาท ปรับขึ้นเป็นไร่ละ 3-4 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหญ่ เดินหน้าลงทุนเพื่อรองรับการพัฒนา เช่น บิ๊กซีเตรียมจะเปิดสาขาใหม่บริเวณตลาด 700 ไร่ อ.สัตหีบ เช่นเดียวกับกลุ่ม ปตท.มีการสำรวจที่เพื่อ เตรียมลงทุนสร้างสถานีบริการน้ำมัน ขนาดใหญ่บนถนน 331

          สำหรับที่ดินใจกลางเมืองศรีราชา บริเวณห้างโรบินสัน ศรีราชา ปัจจุบันขึ้นเป็น 3 แสนบาท/ตารางวา หรือ 120 ล้านบาท/ไร่ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนญี่ปุ่น ที่ทำงานในนิคมฯภาคตะวันออก ถัดจากใจกลางศรีราชา ที่ดินติดถนน สุขุมวิทมีราคา 80-100 ล้านบาท/ไร่ ไม่ติดถนนอยู่ที่ 15-20 ล้านบาท/ไร่ บริเวณลาดกระบัง ใกล้สุวรรณภูมิและแอร์พอร์ตลิงก์ นักลงทุน ต้องการที่ดินจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัด เกี่ยวกับ ผังเมืองโดยโซนตะวันออกและหัวสนามบิน ปัจจุบันไร่ละ 10 ล้านบาท ถนนกิ่งแก้ว บางพลี อ่อนนุช ไร่ละ 20 ล้านบาท เป็นต้น

          บูมสถานี"มักกะสัน-บางซื่อ"

          สำหรับโอกาสของธุรกิจอสังหาฯ รอบสถานีต่างๆ ย่อมส่งผลให้พื้นที่รอบๆ สถานีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้ง 9 สถานีมีการขยายตัว และเกิดการพัฒนาการใช้พื้นที่ในบริเวณโดยรอบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถานีใหญ่ๆ เช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์มักกะสันบนพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ และสถานีบางซื่อ มีพื้นที่กว่า 400 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 300,000 ตารางเมตร ที่จะกลายเป็นฮับที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการ เชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) เกิดการพัฒนาขึ้น ทั้งในส่วนของธุรกิจคอมเมอร์เชี่ยลและธุรกิจ ที่อยู่อาศัย รวมถึงพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนา เชิงพาณิชย์เพื่อรองรับรับการขยายตัวที่จะ เกิดขึ้น

          สำหรับที่ดินโดยรอบของแต่ละสถานีย่อมเป็นที่หมายตาของเหล่าผู้ประกอบการทั้งผู้ประกอบการในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ซึ่งทราบกันดีกว่าโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพฯ และ อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรม

          ทุนใหญ่สะสมแลนด์แบงก์

          "หากความชัดเจนของโครงการรถไฟความเร็วสูง จะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตาม แนวเส้นทางรวมถึงพื้นที่รอบๆ สถานี การพัฒนาดังกล่าวอาจเป็นจุดเปลี่ยน ที่สำคัญของอสังหาฯในพื้นที่ที่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงชะลอตัว โดยเฉพาะ ตลาดคอนโดในพื้นที่พัทยา อาจจะกลับมา คึกคักอีกครั้ง"

          สำหรับอสังหาฯในพื้นที่ อีอีซี ครอบคลุม พื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กำลังเป็นที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการในภาคอสังหาฯหลายรายต่างพากันสะสมแลนด์แบงก์ไว้เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เช่น บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ. ศุภาลัย บมจ. ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ บมจ. เสนา ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.เอสซี แอสเสท บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์ เป็นต้น
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ