หนุนไฮสปีดฯกทม.-เชียงใหม่
Loading

หนุนไฮสปีดฯกทม.-เชียงใหม่

วันที่ : 18 ตุลาคม 2561
หนุนรัฐเร่งไฮสปีดเทรน เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ พร้อมโครงข่ายเชื่อมโยงและระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือรองรับการจัดงานมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ "Northern Thailand Expo2023" จับตาแผนปั้นเมืองใหม่สันกำแพงและดึงรถ LRT เชื่อมสนามบินเชียงใหม่ปัจจุบันกับสนามบินแห่งใหม่ ดีเดย์เริ่มรับฟังความเห็นครั้งแรก 1 พ.ย.นี้
          รับงานมหกรรม Northern Thailand Expo2023

          หนุนรัฐเร่งไฮสปีดเทรน เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ พร้อมโครงข่ายเชื่อมโยงและระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือรองรับการจัดงานมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ "Northern Thailand Expo2023" จับตาแผนปั้นเมืองใหม่สันกำแพงและดึงรถ LRT เชื่อมสนามบินเชียงใหม่ปัจจุบันกับสนามบินแห่งใหม่ ดีเดย์เริ่มรับฟังความเห็นครั้งแรก 1 พ.ย.นี้

          ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 นี้จะเปิดรับฟังความเห็นครั้งแรกเพื่อนำข้อคิดเห็นต่างๆ ไปปรับปรุงในการจัดงานมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของภาคเหนือ "Northern Thailand Expo2023" โดยเป็นความร่วมมือในเบื้องต้นของเครือข่ายพลเมืองกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบัน ศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน จังหวัดเชียงใหม่  บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) บริษัท เชียงใหม่ นครพิงค์ พัฒนาเมือง จำกัด สมาคมการผังเมืองไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่

          "จัดเป็นหนึ่งในกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจของแผนการพัฒนาเมือง เริ่มได้ตั้งแต่งานขนาดย่อมไปจนถึงมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละเมืองจะรับไปดำเนินการซึ่งจะต้องสามารถการันตีดีมานด์นั้นๆ ได้แต่เบื้องต้นอยากให้รัฐเล็งเห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับงานดังกล่าวไว้ตั้งแต่วันนี้ ทั้งรถไฟฟ้าระบบหลัก ระบบรอง ตลอดจนถนน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้พร้อมรองรับปริมาณคนจำนวนมากที่คาดว่าจะจัดได้ยิ่งใหญ่กว่างานมหกรรมพืชสวนโลก

          ที่ผ่านมาและสามารถกระจายงานออกไปยังจังหวัดต่างๆในภาค เหนือได้อย่างทั่วถึงอีกด้วยโดยใช้งบประมาณของภาครัฐ ภาคเอกชน มาบูรณาการร่วมกัน"

          ด้านนายไพรัช  โตวิวัฒน์ อดีตรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แผนนี้คิดมาตั้งแต่กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดต่างๆของภาคเหนือมีศักยภาพซ่อนอยู่หลายเรื่องที่สามารถจะนำมาเผยแพร่และกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่และของประเทศไทยได้เลยทันที ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม หัตถกรรม อีกทั้งเชียงใหม่ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองครีเอทีฟซิตีจึงน่าจะนำจุดแข็งเหล่านี้มาจัดงานเอ็กซ์โปให้ยิ่งใหญ่ของภาคเหนือ

          "จะจัดให้ยิ่งใหญ่กว่างานพืชสวนโลก โดยอาจจะจัดเป็นงานครั้งยิ่งใหญ่ของการรวบรวมแหล่งมรดกโลกและด้านอื่นๆควบคู่กันไปได้ แม้ว่าบางแหล่งมีความก้าวหน้า หลายแห่งรอวันฟื้นตัว จึงจะต้องเร่งให้การสนับสนุนหากสามารถยกระดับการจัดให้ยิ่งใหญ่จะส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาในแต่ละพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเฉพาะเชียงใหม่พบว่ามีไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะงานพืชสวนโลกครั้งที่ผ่านมาพบว่ามีผู้สนใจมาเยี่ยมชมจำนวนมาก ดังนั้นหากเพิ่มได้ 10-15 ล้านคนยังรองรับได้หรือไม่ โดยกระจายไปแต่ละเมืองในภาคเหนือ ดังนั้นโครงข่ายถนน รถไฟในเมือง รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ฯลฯ จึงจะต้องเร่งผลักดันกันตั้งแต่วันนี้เพื่อให้แล้วเสร็จรองรับได้ทันในช่วงดังกล่าว"

          ทั้งนี้ในเบื้องต้นคิดว่าจะดำเนินการนำร่องก่อนใน 7 จังหวัดของภาคเหนือ โดยได้นำเสนอแนวคิดนี้ให้นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เห็นชอบแล้ว ปัจจุบันเชียงใหม่ประกอบสินค้าหัตถกรรมคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงสามารถกระจายความเจริญไปสู่จังหวัดต่างๆ ได้อีกด้วย

          ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทยและที่ปรึกษาบริษัทพัฒนาเมือง กล่าวว่าหลายจังหวัดต้อง บูรณาการร่วมกันเนื่องจากเป็นงานใหญ่ที่สามารถกระจายคนไปสู่จังหวัดต่างๆ รัฐบาลต้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนกับภาคเอกชน มีระยะเวลาเตรียมการในระยะอีก 4-5 ปีข้างหน้าให้พร้อมรองรับงานยิ่งใหญ่ระดับอาเซียน

          "บางงานจะไปจัดที่ลำพูน ลำปาง น่าน แม่ฮ่องสอน ฯลฯ โดยเชียงใหม่จะเริ่มต้น ระดมความเห็นในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นครั้งแรกหลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะเร่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมการขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป รูปแบบยิ่งใหญ่เน้นเรื่องต่างๆอาทิ ฟื้นหัตถกรรมในจังหวัดต่างๆ ด้านสุขภาพและความงาม เกษตรกรรม ศิลปะ วัฒนธรรม มรดกโลก ดิจิตอลฮับ เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาจัดงานประมาณ 2 เดือน เป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยคาดว่าจะได้รับความสนใจจากรัฐบาลเข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้โดยเร่งขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูง รถไฟเชื่อมสนามบินเชียงใหม่กับสนามบินแห่งใหม่ที่บ้านธิ จังหวัดลำพูน รูปแบบไลต์เรล (LRT) และการพัฒนาเมืองใหม่สันกำแพงให้พร้อมรองรับงานมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้"
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ