แบงก์แนะปรับ-เลื่อนเกณฑ์คุมกู้ซื้อบ้าน
Loading

แบงก์แนะปรับ-เลื่อนเกณฑ์คุมกู้ซื้อบ้าน

วันที่ : 12 ตุลาคม 2561
ธอส.-แบงก์พาณิชย์เผยผลหารือ-รับฟังความคิดเห็นกรณีคุมปล่อยกู้บ้านหลังที่สอง ห่วงลูกค้าระดับปานกลาง-ล่างรับผล กระทบด้วย แนะผ่อนเกณฑ์กรณีบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท และเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้ ม.ค.62
          ธอส.-แบงก์พาณิชย์เผยผลหารือ-รับฟังความคิดเห็นกรณีคุมปล่อยกู้บ้านหลังที่สอง ห่วงลูกค้าระดับปานกลาง-ล่างรับผล กระทบด้วย แนะผ่อนเกณฑ์กรณีบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท และเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้ ม.ค.62

          จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะออกเกณฑ์การปล่อยกู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยใช้เกณฑ์ LTV Ratio ที่ 80% สำหรับบ้านหลังที่สองและหลังต่อๆไปนั้น หลังจากที่ได้มีการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการเงินเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า หากมีการใช้เกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีผลกระทบต่อทั้งธนาคารและลูกค้า ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบดังกล่าว ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารวันที่ 29 ตุลาคมนี้ จะเสนอกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น 2 เรื่อง ได้แก่ การปรับเกณฑ์ให้บ้านหลังที่ 2 ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ไม่เข้าร่วมเกณฑ์ดังกล่าว และเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้จากในวันที่ 1 มกราคา 2562 นี้ออกไปก่อน เพื่อให้ธนาคารและลูกค้าปรับตัว ได้ทัน

          นอกจากนี้ ธอส.ต้องการให้ ธปท.กำหนดนิยามเกณฑ์คุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้มีความชัดเจนโดยเฉพาะบ้านหลังที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 เป็นจำนวนมาก และต้องการซื้อเพราะมีความต้องการใช้จริง แต่ไม่ใช่เพื่อนำเป็นเก็งกำไรหรือขายต่อ ซึ่งหากมีการใช้เกณฑ์ดังกล่าวก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยคำจำกัดของความบ้านหลังที่ 2 นั้น ไม่ควรจะนับรวมบ้านที่ได้ปิดสัญญา หรือการผ่อนชำระหมดแล้ว แต่จะนับบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ยังต้องผ่อนชำระกับสถาบันการเงินเท่านั้น

          "เกณฑ์ที่จะออกมานี้ คุมในส่วนของผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อบ้านหลังที่สอง แต่ยังผ่อนหลังแรกไม่หมด ซึ่ง ธอส.มีลูกค้าในลักษณะดังกล่าวมาก แต่ก็เกิดจากความจำเป็นของลูกค้าเป็นหลัก เนื่องจากบ้านที่ซื้ออยู่ไกลจึงจำเป็นต้องซื้อคอนโดฯในเมืองใกล้ๆ ที่ทำงานอีกหลัง ดังนั้น ถ้าเกณฑ์ออกมาก็จะกระทบค่อนข้างมาก จึงควรที่จะปรับบางส่วนเพื่อลดผลกระทบกับกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ"

          ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องหารือกับกระทรวงการคลังนั้น มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ จากพันธกิจของธอส.ควรใช้เกณฑ์เดียวกับธนาคารพาณิชย์หรือไม่ และสิ่งที่พบการเก็งกำไรจากอสังหาริมทรัพย์เป็นระดับราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้น ส่วนราคาต่ำกว่าที่ไม่พบการเก็งกำไรนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ต้องเข้าเงื่อนไขดังกล่าว เนื่องจากจะกระทบกับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้

          ด้านนายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)(BAY)กล่าวว่า ในการหารือดังกล่าว ได้มีการนำเสนอใน 6 ประเด็นหลักๆ ประกอบด้วย 1. การผ่อนปรนในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้สามารถปรับตัวทัน อาทิ เงื่อนไขการนับบ้านหลัง 2 ตามวิถีคนเมือง กรณีลูกค้าซื้อก่อนออกประกาศ กรณีบ้านเสร็จพร้อมโอนหลังเดือนมกราคม 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเลื่อนบังคับใช้จากข้อจำกัดต่างๆ

          2. กรณีการกู้ร่วมจะนับจำนวนสัญญาอย่างไร 3.แนวทางการกันสำรองจากสินเชื่อบ้าน 4.เงื่อนไขรายละเอียดของราคากรณีรีไฟแนนซ์ 5.ยกเว้นการนับอัตราส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเทียบกับมูลค่าบ้าน (LTV) กรณีซื้อประกันชีวิต 6. กรณีเอาบ้านไปขอสินเชื่อเอสเอ็มอีต่อมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร

          ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ในที่ประชุมมีหลายธนาคารเสนอให้ปรับเกณฑ์กำกับใช้กับที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 และยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปจาก 1 มกราคม 2562 เพื่อ ให้ทั้งสถาบันการเงินและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีเวลาปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกันสำรองและระบบภายใน

          อนึ่ง เกณฑ์ของ ธปท.ที่เปิดรับฟังความเห็นจากสถาบันการเงินในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. คงเกณฑ์สำหรับการกู้สัญญาแรก เพื่อให้ประชาชนยังสามารถซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงได้ 2. สำหรับสัญญาที่ 2 ขึ้นไป หรือที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป กำหนด LTV Limit 80% เพื่อดูแลความเสี่ยงจากการเก็งกำไร และ 3. นับรวมสินเชื่อ Top-up ทุกประเภทที่อ้างอิงหลักประกันเดียวกัน ให้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ